3 วิธีมองโลกแบบฉบับ “ลีโอนาร์โด ดา วินชี” อัจฉริยะบุคคลผู้เก่งรอบด้าน!

22956

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภาพเขียนของ ลีโอนาร์โด ดา วินชี ที่มีชื่อว่า Salvator Mundi ถูกขายไปในราคากว่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่สูงลิ่วอย่างน่าตกใจ แต่หลายคนก็มองว่ายังน้อยไปด้วยซ้ำหากเทียบกับคุณูปการที่ดาวินชีมีต่อประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เขาเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งยุคเรอเนสซองส์ หรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการแห่งยุโรป เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงศิลปิน แต่ยังเป็นนักประดิษฐ์ที่เชี่ยวชาญทั้งด้านสถาปัตยกรรม ดนตรี กายวิภาค ไปจนถึงเรขาคณิต หากจะใช้คำไหนแทนตัวเขาได้ล่ะก็ “อัจฉริยะ” ก็น่าจะเป็นคำเดียวที่คู่ควรกับบุคคลผู้นี้

ภาพวาด Salvator Mundi

เชื่อกันว่าความอัจฉริยะอันโดดเด่นไม่มีใครเทียบได้นี้ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่ยังมาจากประสบการณ์ที่มาจากการศึกษาและฝึกฝนตั้งแต่ยังเด็กด้วยสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงผลักดันเขาตลอดมา นั่นก็คือ ความสงสัยใฝ่รู้  เขาเป็นคนมีจินตนาการ ช่างถาม  หาความรู้ และมักจะทำสิ่งธรรมดาสามัญด้วยวิธีที่ไม่ธรรมดาเสมอ

ถึงแม้ว่าเราอาจไม่สามารถลอกเลียนแบบผลงานของ ดา วินชี ได้ แต่เราก็สามารถนำเอาวิธีคิดและความช่างสงสัยใฝ่รู้ของเขามาใช้ในชีวิตได้  มาดูกันดีกว่าว่า วิธีคิดของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลกผู้นี้เป็นยังไงบ้าง

1. มองโลกโดยไม่ยึดติดกับกรอบต่างๆ

ถ้าคุณศึกษาเรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หลายๆ คน คุณก็จะเห็นว่าพวกเขามักมีจุดร่วมกันอยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือ การสร้างสรรค์โดยผสมรวมหลากหลายศาสตร์และมุมมองเข้าด้วยกัน เหมือนกับ ดา วินชี ที่มักนำวิทยาศาสตร์มารวมกับศิลปะ แต่ตัว ดา วินชี นั้นไม่ได้มองว่าทั้งสองอย่างเป็นคนละสาขาความรู้กัน วิธีการของเขาคือ สังเกต จดบันทึก แล้วจึงใช้ทฤษฎีที่เหมาะสมมาตีความ ในความคิดของเขา วิทยาศาสตร์กับศิลปะเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน และต้องทำความเข้าใจร่วมกัน

แม้ว่าทุกวันนี้ คนเราจะเริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนแบบบูรณาการ เอาหลายๆ ทักษะวิชามารวมกันแล้วก็จริง แต่ก็ยังคงยึดติดกับกรอบที่ว่าแต่ละวิชาแยกกันอยู่ดี ความจริง คำว่าวิทยาศาสตร์หรือศิลปะก็เป็นเพียงคำที่เราตั้งขึ้นมาใช้เรียกมุมมองต่อโลกที่ต่างกันเท่านั้นเอง แต่เราไม่สามารถแยกความเป็นจริงออกเป็นส่วนๆ ตามชื่อที่ตั้งขึ้นมาได้

แน่นอนว่าการคิดแบ่งสาขาความรู้ด้วยชื่อที่แตกต่างกันไป ช่วยให้เราเข้าใจโลกและจัดระเบียบความรู้ได้ง่ายขึ้น แต่มันก็ทำให้เราเกิดอคติและมองโลกแคบลงไปด้วย เราจึงควรยกกรอบเหล่านั้นออกก่อนเพื่อให้มองโลกได้อย่างที่มันเป็นจริงๆ

2. ตั้งคำถามต่อทุกสิ่ง

สมุดบันทึกหนาหลายพันหน้าของเขาอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย เขาบรรยาถึงช่วงเวลาที่เขาอาศัยอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ และมิลาน ประเทศอิตาลี ช่วงที่รู้สึกแย่และความสัมพันธ์ของเขาต่อมิตรสหายและเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในสมุดนั้นคือ การตั้งคำถาม ทั้งในเรื่องใหญ่ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญ นั่นเพราะเขาเป็นคนที่ตื่นตาตื่นใจกับทุกสิ่งบนโลกอย่างแท้จริง

“ข้าพเจ้ารอนแรมไปตามชนบทเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่ไม่เข้าใจ เพราะเหตุใดจึงมีหอย ร่องรอยปะการังและสาหร่ายบนยอดเขาสูง เหตุใดฟ้าร้องจึงตามมาช้ากว่าฟ้าแลบ การโยนหินลงในน้ำทำให้เกิดเป็นวงกระเพื่อมได้อย่างไร และเพราะเหตุใดนกจึงประคองตัวอยู่บนเวหาได้ ปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดเหล่านี้เองที่เวียนวนอยู่ในความคิดของข้าพเจ้ามาทั้งชีวิต” — ลีโอนาร์โด ดา วินชี

หลายคนมักไม่เคยใส่ใจตั้งคำถามในสิ่งเล็กน้อยแบบนี้ เพราะคิดว่ามันไม่มีประโยชน์หรือความสำคัญกับชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่จะนำเราไปสู่ขุมทรัพย์ความรู้ที่ยังไม่เคยค้นพบได้หากมองให้ลึกพอ คำถามของดา วินชีไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานศิลปะของเขาในทันที แต่มันก็ทำให้เขามองโลกได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และแสดงผ่านวิธีการที่เขาเขียนภาพหุบเขา แม่น้ำ ทัศนียภาพต่างๆ รวมไปถึงผู้คน ดังเช่นรอยยิ้มอันน่าค้นหาของโมนาลิซ่านั่นเอง

ในโลกนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้คุณพบเจอและเรียนรู้ อยู่ที่ว่าคุณจะออกไปค้นหามันรึเปล่า

3. ทดลองและพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด

นิสัยหมกมุ่นในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) เกิดจากความกลัวหรือสับสน และบางครั้งมันก็กลายเป็นศัตรูตัวร้ายของเหล่าศิลปินและนักธุรกิจได้เมื่อต้องตัดสินใจอะไรสักอย่าง เพราะพวกเขาจะไม่มีทางพึงพอใจกับสิ่งที่ทำอยู่และไม่ยอมเปิดเผยผลงานหรือออกวางขายในตลาด

ดา วินชี เองก็เป็นหนึ่งในนักเพอร์เฟ็กต์ชันนิสต์ตัวยงเช่นกัน เห็นได้จากภาพร่างจำนวนมหาศาลที่เขาไม่ได้วาดต่อให้เสร็จ และบางชิ้นงาน เขาก็ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะสำเร็จสมบูรณ์แบบ เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นเพราะอยากแสดงให้คนอื่นเห็นเท่านั้น แต่เป็นเพราะเขาไม่เคยคิดจะหยุดพัฒนาตัวเองด้วย ทุกผลงานที่เขาสร้างถือเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ แม้แต่ภาพโมนาลิซ่าที่ใช้เวลาวาดกว่า 10-14 ปีนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นเวอร์ชันสมบูรณ์ในสายตาของดา วินชีเสียด้วยซ้ำ นักวิชาการบางคนชี้ว่าศิลปินผู้นี้ได้พยายามขัดเกลาฝีมือของตนจนบั้นปลายชีวิตเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าคุณควรรีรอไม่ยอมปล่อยให้ผลงานสำเร็จลุล่วงหรอกนะ แต่ให้คิดไว้เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีพื้นที่ให้การปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ ความจริงเป็นสิ่งลื่นไหลได้ เช่นเดียวกับการตัดสินใจและผลงานที่คุณสร้าง คุณยังสามารถขัดเกลาให้มันดีขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป ขอแค่ต้องทดลองทำอยู่เสมอ ในวันหน้า คุณจะทำได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ลีโอนาร์โด ดา วินชีมองโลกแตกต่างไปจากคนอื่นๆ เพราะเขาช่างสังเกต ใส่ใจและปรับตัวกับโลกรอบตัวอยู่เสมอ และนั่นก็คือความหมายของ “ความสงสัยใฝ่รู้” ที่อาจจะนำคุณไปสู่การเป็นอัจฉริยะได้สักวันหนึ่ง

Source