9 เคล็ดลับ พูดอย่างไรให้ดีและมีประสิทธิภาพ

16658

ในบางครั้งเวลาที่คุณมีไอเดียเจ๋งๆ แล่นเข้ามาในหัว คุณก็ต้องการที่จะแชร์ไอเดียนี้กับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า แต่ทว่า คุณไม่รู้วิธีสื่อสารเพื่อให้คนอื่นหันมาสนใจและเข้าใจคุณได้

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคุณไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล และคุณก็ไม่สามารถบังคับใครให้มาสนใจคุณได้ แต่…สิ่งที่คุณสามารถบังคับได้อย่างแน่นอนก็คือ ตัวของคุณเอง และเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจที่สุด คุณจึงต้อง คิดก่อนพูด

โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่จะช่วยทำใหัคุณเห็นภาพชัดขึ้นว่า คำพูดนั้นมีอิทธิพลมากขนาดไหน? นักวิจัยได้ทำการศึกษาผู้เข้าร่วมการทดลองกว่า 300 คนโดยการให้พวกเขาทำการประเมินนิสัย อีกทั้งพวกเขายังต้องจัดอันดับลักษณะนิสัยด้วย อย่างเช่น ความน่าเชื่อถือ ความเป็นผู้นำ เสน่ห์ ผ่านทางคำพูดง่ายๆอย่าง “สวัสดีครับ/ค่ะ” ผลการทดลองก็คือ ร้อยละ 92 เห็นว่าแต่ละเสียงล้วนมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัวแฝงอยู่ หมายความว่าผู้คนตัดสินคุณผ่านทางเสียงที่คุณเปล่งออกมาด้วยยังไงล่ะ

ข่าวดีก็คือคุณยังสามารถทำอะไรกับเสียงได้นิดหน่อยเพื่อให้การพูดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และต่อไปนี้ก็คือ 9 เคล็ดลับที่บอกได้เลยว่าถ้าคุณทำตามได้ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณในบทสนทนาเพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

1. พูดเสียงทุ้มเข้าไว้

เสียงทุ้ม เป็นเสียงที่ฟังดูน่าเชื่อถือและภูมิฐาน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายๆชิ้นที่ชี้ว่าคนที่มีความเป็นผู้นำ ความจำดีและหาเงินเก่ง มักมีโทนเสียงทุ้ม

แต่หากคุณไม่ใช่คนที่เสียงทุ้ม ขอให้คุณพึงระวังไว้ เพราะจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยดุ๊กพบว่า หญิงผู้พยายามดัดเสียงให้ต่ำกว่าโทนเสียงปกติหรือที่เรียกว่า Vocal Fry มักถูกมองว่าเป็นพวกด้อยความสามารถและไม่ค่อยน่าเชื่อถือ

2. ระวังความคิดไว้ให้ดี

ดร.เอลิซาเบธ ลอมบาโด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา เธอกล่าวว่า เมื่อตอนที่เธอได้ร่วมงานกับเลขาคนเก่า เธอรู้สึกได้เลยว่าเขาไม่ค่อยพอใจเธอนัก แม้มันจะเป็นวันแรกที่ได้ร่วมงานกัน แต่น้ำเสียงของเขามันบ่งบอกได้ชัดโดยที่ไม่ต้องปริปากพูดคำว่าไม่พอใจออกมาเลยด้วยซ้ำไป

หากไม่อยากให้ปัญหานี้เกิดกับคุณล่ะก็ มีสิ่งหนึ่งที่ ดร.เอลิซาเบธ อยากแนะนำให้กับคุณคือ ขอให้คุณระวังความคิดคุณไว้ให้มากๆ อย่าให้มันทำให้คุณเสียเรื่องได้ พยายามมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ เพราะแน่นอนว่าความคิดเชิงบวกจากภายในย่อมแสดงออกมาภายนอกเป็นพฤติกรรมเชิงบวกเช่นกัน

3. รอยยิ้ม สิ่งเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่

อันที่จริง การยิ้มมีความสำคัญมากต่อการพูดอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุผลคือ เวลาคุณยิ้มมันทำให้คุณมีความสุขโดยที่คุณก็ไม่รู้ตัวเช่นกัน ซึ่งพอคุณมีความสุขแล้ว คุณก็ย่อมเปล่งเสียงออกไปอย่างมีความสุข และนี่แหละคือหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญ เพราะคนเรามักสบายใจที่จะอยู่กับคนที่มีความสุข ประโยชน์ของการยิ้มยังไม่หมดเท่านี้ เพราะรูปปากของคุณเวลายิ้มยังส่งผลโดยตรงต่อการเปล่งเสียงให้ออกมาเป็นธรรมชาติ ลื่นหูและมีความเป็นมิตรด้วย

4. เลี่ยงการพูดโทนเสียงเดียว

รู้หรือไม่ว่าการพูดโทนเสียงเดียวนั้นกำลังบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับตัวคุณ? ใช่แล้ว มันบอกว่าคุณกำลังรู้สึกเบื่อ หรือจะพูดว่าคุณเป็นคนน่าเบื่อก็ไม่ผิด ซึ่งทำให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อตามไปด้วย หากเป็นเช่นนี้ คุณจะไม่มีทางพูดให้ประสบความสำเร็จได้เลย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว คุณควรใช้โทนเสียงสูงและต่ำสลับกันไปเพราะจะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนายังไงล่ะ

5. พูดให้ไวก็ไม่เสียหาย

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดนิสัยการพูดช้าๆ ขอให้คุณระวังไว้ เพราะคนส่วนใหญ่มักมองว่าการพูดช้าๆบ่งบอกว่าคุณเป็นคนไม่น่าไว้ใจ น่าเบื่อ และด้อยความสามารถ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคนที่พูดเร็วที่คนส่วนใหญ่จะมองเป็นคนกระฉับกระเฉง ฉลาด และพึ่งพาได้

การพูดให้เร็วในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้คุณพูดเร็วจนลิ้นพันกัน เพียงแต่ให้คุณเร่งจังหวะการพูดให้เร็วขึ้นในส่วนที่คุณรู้สึกหรืออยากให้ผู้ฟังรู้สึกสนใจ แต่คุณก็ต้องมั่นใจด้วยว่าผู้ฟังยังคงเข้าใจในสิ่งที่คุณพูด

6. เว้นจังหวะบ้าง

อาจฟังดูขัดกับคำแนะนำข้อที่ผ่านมา แต่การเว้นจังหวะระหว่างที่พูดบ้าง จะช่วยคุณประสบความสำเร็จในการสื่อสารอย่างมาก เช่น เวลาที่คุณต้องออกไปนำเสนอรายงานหน้าที่ประชุม หลังจากแนะนำตัวเองเรียบร้อยแล้ว ขอให้คุณลองเว้นจังหวะสักครู่ เพราะอะไรน่ะหรือ? คำตอบคือมันจะช่วยให้ผู้ร่วมประชุมของคุณรู้สึกว่าเรื่องที่คุณกำลังจะกล่าวต่อไปนั้นเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้การเว้นช่วงก่อนจะพูดในแต่ละครั้งยังช่วยให้คุณมีเวลาคิดเรื่องที่จะพูดซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการพูดว่า “เอิ่ม” หรือ “เอ่อ” เพราะมันทำให้คุณดูไม่เป็นผู้พูดที่ดีเอาซะเลย

7. สำเนียง เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

งานวิจัยเผยว่า คนเรามักระแวงคนที่พูดสำเนียงต่างจากเรา เมื่อรู้เช่นนี้แล้วคุณอาจกำลังอยากเปลี่ยนสำเนียงการพูดของคุณ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ทันทีดั่งใจนึก แต่การพยายามฝึกฝนจะช่วยคุณได้อย่างแน่นอน

8. หายใจให้เป็นจังหวะ

การหายใจเร็วและถี่เกินไปจะส่งผลโดยตรงให้เส้นเสียงตึงขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้น้ำเสียงของคุณฟังดูไม่เป็นมิตรแล้วยังจะทำให้คุณเป็นคนพูดเสียงดังโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ในทางกลับกัน การหายใจที่ช้าและลึกจะช่วยผ่อนคลายความเครียดให้กับคุณ อีกทั้งยังไม่ทำให้เส้นเสียงคุณตึงเหมือนกับการหายใจที่เร็วและถี่ ซึ่งแน่นอนว่าการหายใจเช่นนี้จะทำน้ำเสียงที่คุณเปล่งออกมาฟังดูเป็นมิตรโดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

9. พูดจาฉะฉาน

อาจจะฟังดูเหลือเชื่อ เพราะเพียงแค่คุณเน้นในส่วนสำคัญของประโยคที่คุณเปล่งออกมา ก็ทำให้คุณเป็นคนที่พูดจาฉะฉานได้อย่างง่ายดาย ซึ่งต่างจากการพยายามเปลี่ยนโทนเสียงสูงระหว่างการพูด (เริ่มจากพูดด้วยโทนเสียงต่ำแล้วสูงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนการถามคำถาม) ที่จะถูกมองว่าเป็นคนโลเลไม่น่าเชื่อถือ

ในทางกลับกันการเปลี่ยนโทนเสียงให้ต่ำระหว่างการพูดนั้น (เริ่มจากพูดด้วยเสียงสูง แล้วค่อยๆต่ำลง) บ่งบอกถึงความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในตัวคุณได้

 

Source : Success