Dockless Bike ครองเมือง! โมเดลธุรกิจจักรยานเช่าไร้สถานี กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก

1352

การปั่นจักรยานในเมืองอาจเคยเป็นแค่วิถีชีวิตของชาวเนเธอแลนด์ แต่ทุกวันนี้บริการเช่าจักรยานสุดไฮเทคและสะดวกสบายกำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก

ภาพจาก moblike.com

จุดเด่นของโมเดลธุรกิจนี้คือ จักรยานไร้สถานี คุณสามารถค้นหาจักรยานได้ด้วยระบบจีพีเอสเซ็นเซอร์และปลดล็อคจักรยานผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดหรือยินยันตัวตนด้วยระบบอาร์เอฟดีไอบนแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน และยิ่งไปกว่านั้น คือคุณจะล็อคหรือจอดทิ้งไว้ที่ใดก็ได้เช่นกันหลังจากเสร็จสิ้นระยะการเช่า โดยไม่จำเป็นต้องที่สถานีจักรยานอย่างที่เราเคยคุ้นกัน ส่วนตัวจักรยานสามารถชาร์จแบตเตอรี่ในตัวได้ในระหว่างที่ปั่นนั่นเอง

ความง่ายดายนี้ส่งผลให้บริการดังกล่าวขยายไปกว่า 1,608 เมืองทั่วโลก และครอบคลุมส่วนใหญ่ของผู้ใช้จักยานสาธารณะที่มีจำนวนกว่า 18 ล้านคนไปอย่างรวดเร็ว จากจำนวนเพียง 2 ล้านคนจากผลสำรวจในปี 2559 โดยอ้างอิงจาก Russell Meddin ผู้ร่วมสร้างแผนที่ Bike sharing ออนไลน์

ที่มาของจำนวนผู้ใช้ที่ล้นหลามนั้นส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีบริษัทสตาร์ทอัพผู้ให้บริการแชร์จักรยานสองรายใหญ่ที่แข่งขันกันจับจองพื้นที่บนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งคู่ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจาก 2 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่แข่งกันอย่าง Ofo ได้รับการสนับสนุนโดย อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิงส์ (Alibaba Group Holding) ส่วน Mobike ก็ตกเป็นของบริษัทที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียอย่าง เทนเซ็นต์ โฮลดิงส์ (Tencent Holdings) นั่นเอง

อเล็กซ์ บอร์วิค อดีตผู้ใช้ Mobike ซึ่งอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า การแชร์จักรยานสะดวกสบายกว่าการใช้จักรยานส่วนตัวมาก เพราะไม่ต้องพกโซ่ล็อคหรือคอยระแวงระวังความปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นข้อดีที่สุดของบริการนี้คือคุณจะจอดทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้นั่นเอง

แต่กระนั้น การเร่งนำจักรยานกว่า 1.5 ล้านคันออกมาให้ใช้บริการของสองบริษัทก็ส่งผลให้เกิดขยะจักรยานที่ไร้ผู้คนเหลียวแลท่วมสูงเป็นภูเขาหลายลูกเลยทีเดียว ในแถบเมืองเซี่ยงไฮ้และเซี่ยเหมิน ในเดือนกันยายน ปี 2560 เมืองใหญ่ๆ จีนออกมาตรการห้ามนำจักรยานใหม่ออกมาให้ใช้บริการเพื่อลดปริมาณจักรยานที่ถูกใช้แล้วทิ้งลง

นอกจากโมเดลการเช่าจักรยานไร้สถานีจะสะดวกต่อผู้ใช้แล้ว ยังมีต้นทุนในการบริหารจัดการที่ต่ำมากอีกด้วยเมื่อเทียบกับบริการเช่าจักรยานที่ต้องจอดตามสถานี สตีฟ ไพเออร์ ผู้จัดการ Mobike ในลอนดอนชี้ว่า ถ้าเป็นสถานีจอดจักรยานเช่าธรรมดาๆ ขนาด 25 คัน จะต้องใช้ต้นทุนในการติดตั้งและดูแลรักษาถึง 100,000 ปอนด์ และมีต้นทุนต่อคันประมาณ 3000-5000 เหรียญ นอกจากนั้น แม้จะมีราคาสูงแต่ผลกำไรจากการโฆษณากลับต่ำมาก ในขณะที่จักรยานเช่าไร้สถานีในจีนมีต้นทุนต่อคันไม่ถึง 100 เหรียญ

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่า เหตุใดจักรยานไร้สถานีจึงได้รับความนิยมและมีจำนวนมหาศาลขนาดนี้ เมื่อเทียบกับบริการจักรยานเช่าแบบมีสถานี

ความสำเร็จของโมเดลธุรกิจดังกล่าวในประเทศจีนดึงดูดให้มีผู้สนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยมูลค่ารวมการร่วมลงทุน (Venture capital) จากทั่วโลกกระโดดแตะ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560 จากเพียง 290 ล้านเหรียญในปี 2559 อ้างอิงข้อมูลจาก Crunchbase บริษัทขนาดใหญ่ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจจากซานฟรานซิสโก นอกไปจากนี้ บริษัทคาร์แชร์ริ่งทั้งหลายก็เริ่มหันมาสนใจลงทุนกับธุรกิจจักรยานเช่ารูปแบบดังกล่าวมากขึ้นด้วย เช่น Uber, Ola และ Grab เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างต่อเนื่องและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

แต่แน่นอนว่าการไม่มีสถานีจอดย่อมทำให้จักรยานไปโผล่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ที่่ผู้ใช้รายอื่นเข้าถึงได้ยาก จึงต้องอาศัยทีมงานมาคอยดูแลและเคลื่อนย้ายจักรยานอยู่เสมอๆ  อีกทั้ง บริษัทจักรยานรายหนึ่งในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ก็ได้นำระบบ Machine Learning ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเข้ามาจัดการจักรยานอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด “เราพยายามเข้าไปเคลื่อนย้ายจักรยานให้น้อยครั้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้ผู้คนใช้ต่อกันได้หลายๆ ครั้ง” Axel Bentsen ผู้บริหารบริษัท Urban Infrastructure Partner ซึ่งควบคุมโครงการแบ่งปันจักรยานในกรุงออสโล กล่าวกับทาง BBC

 

Source : BBC