ทำไมการทำงาน ‘8 ชั่วโมงต่อวัน’ ถึงไม่ได้ผล? (4 เคล็ดลับการจัดการกับเวลา)

5141

สมัยนี้การทำงานต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงต่อวัน กลายเป็นอะไรที่ทั้งเชยและไม่ได้ผล ถ้าหากคุณอยากจะได้ผลลัพธ์จากการทำงานที่ดีที่สุดล่ะก็ เลิกยึดติดกับค่านิยมนี้แล้วลองหาวิธีใหม่เสียจะดีกว่า

อันที่จริง การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันนั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจาก ความต้องการลดชั่วโมงงานของแรงงานที่ต้องตรากตรำทำงานหนักในโรงงานต่างๆ โดยการปรับชั่วโมงทำงานลงนี้ถือเป็นวิธีที่ดีและเหมาะสมสำหรับผู้คนในโลกเมื่อสองร้อยปีก่อน ทว่าผลดีที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น กลับไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตการทำงานในปัจจุบันเลย

ทุกวันนี้เราต่างก็ถูกคาดหวังให้ต้องทำงานหนักต่อเนื่องกันถึง 8 ชั่วโมงโดยที่แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนแบบเดียวกับที่เหล่าบรรพบุรุษของเราเคยผ่านมาในสมัยก่อน บางคนถึงขนาดทำงานเพลินจนลืมเวลาพักเที่ยงเลยก็มี!

แต่รู้ไหมว่า วิธีการทำงานแบบนี้นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังเป็นอุปสรรคในการทำงานอีกด้วย

วิธีที่ดีที่สุด สำหรับวางแผนการทำงานในแต่ละวัน

งานวิจัยล่าสุดของ Draugiem Group ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามลักษณะนิสัยในการทำงานของบรรดาลูกจ้างทั้งหลาย โดยเน้นไปที่การเปรียบเทียบชั่วโมงทำงานกับคุณภาพของผลงานที่ได้ในท้ายที่สุด

โดยในระหว่างขั้นตอนของการตรวจวัดผลกิจกรรมของผู้คนเหล่านั้น ทีมวิจัยก็ได้ค้นพบผลลัพธ์อันน่าทึ่งอย่างหนึ่งเข้า นั่นคือ ความสำคัญของการทำงานไม่ได้อยู่ที่จำนวนชั่วโมงที่ผ่านเลยไป แต่เป็นวิธีการที่ใช้ในการทำงานต่างหาก และที่สำคัญก็คือ คนที่มักจะพักผ่อนเป็นช่วงๆ ในระหว่างทำงาน กลับยิ่งทำผลงานออกมาได้ดีกว่า!

พักเบรก

ระยะเวลาของการทำงานและพักเบรกที่เหมาะสม คือ ทำงาน 52 นาที ตามด้วยพักอีก 17 นาที โดยผู้ที่สามารถทำตามตารางเวลานี้ได้มักจะมีสมาธิคงที่ตลอดในการทำงาน เนื่องจากภายในช่วงเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงนี้ พวกเขาจะสามารถอุทิศตนให้กับการทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ถูกรบกวนจากความรู้สึกอย่างเช่น ฉันอยากจะเช็คเฟซบุ๊คหรืออีเมล หรือรู้สึกเมื่อยล้า (หลังจากเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงผ่านไป) พวกเขาจะใช้เวลาช่วงเวลาสั้นๆ ในการพักผ่อนโดยตัดขาดจากเรื่องงานโดยสิ้นเชิง ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้พวกเขาสามารถกลับเข้าไปทำงานใหม่ได้อย่างสดชื่นและผ่อนคลายมากขึ้นนั่นเอง

สมองของเราต้องการเวลาพัก 15 นาที หลังจากผ่านการใช้งานมานาน 1 ชั่วโมง

คนที่ได้ค้นพบช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการทำงานอย่างน่าทึ่งนี้ต่างก็เป็น “ผู้ชนะในการแข่งขัน” ทั้งสิ้น เนื่องจากพวกเขาเข้าใจถึงความต้องการพื้นฐานของสมองคนเรานั่นเอง กล่าวคือ โดยปกติแล้วสมองของเราจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด (ประมาณ 1 ชั่วโมง) ก่อนจะตามมาด้วย ช่วงของการขาดพลังงาน (ประมาณ 15 – 20 นาที)

สำหรับพวกเราส่วนใหญ่แล้ว จังหวะการขึ้น-ลงของพลังงาน ทำให้เราต่างก็ตกอยู่ในสภาวะสลับไปสลับมา ระหว่างการมีสมาธิสูงสุดในช่วงที่ยังเปี่ยมไปด้วยพลังงาน และการที่ไม่สามารถทำงานออกมาได้ดีในช่วงเวลาที่รู้สึกล้าและถูกรบกวนโดยสิ่งต่างๆ รอบตัว

ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดในการเอาชนะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและขจัดสิ่งรบกวนต่างๆ ที่ทำให้เราวอกแวก ก็คือ “การมีความตั้งใจ” แทนที่จะพยายามฝืนสู้รบกับความเหนื่อยล้าระหว่างงาน หลังเวลาหนึ่งชั่วโมง(หรือมากกว่า)ผ่านไป ขอให้ถือว่ามันเป็นสัญญาณของการต้องพักผ่อนจะดีเสียกว่า

การพักผ่อนจริงๆ แล้วนั้น สามารถทำได้โดยง่าย หากเราคิดว่ามันจะช่วยให้งานออกมาดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่คนเราก็มักจะปล่อยให้ความเหนื่อยล้ามีชัยเหนือสิ่งอื่นใด เนื่องจากเราพยายามยื้อต่อสู้ฝ่าฝันกับมันมานาน (เป็นเวลานานหลังหมดพลังงานและเสียสมาธิไปแล้ว) แถมการพักเบรกที่มักทำกันนั้นก็ไม่ใช่ “การพักผ่อน” จริงๆ อีกด้วย เช่น การเช็คอีเมล ฟังเพลง หรือดูยูทูป มันก็ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลายเหมือนกับการออกไปเดินเล่น ยืดเส้นยืดสายเลยสักนิด

4 เคล็ดลับการจัดการเวลาทำงานให้เหมาะสม

การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน สามารถให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพได้หากเรารู้จักแบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วนอย่างเหมาะสม และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถจัดการให้ “ความตั้งใจ” อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับ “ความสามารถในการทำงานของเรา” ได้แล้วล่ะก็ รับประกันเลยว่า อะไรๆ ก็จะเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น และนี่ก็คือ 4 เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยปรับจังหวะการทำงานของคุณให้ดีกว่าที่เคยเป็นมา

  1. แบ่งช่วงเวลาการทำงานเป็นรายชั่วโมง โดยปกติแล้ว เรามักจะวางแผนการทำงานให้เสร็จภายในหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หรือไม่ก็หนึ่งเดือน แต่เชื่อเถอะว่า เราจะสามารถทำงานได้ดีที่สุดจริงๆ ก็ต่อเมื่อ คุณจดจ่ออยู่กับงานใน “ปัจจุบัน ตอนนี้” เท่านั้น ซึ่งการแบ่งเวลาในหนึ่งวันออกเป็นช่วงสั้นๆ รายชั่วโมง นอกจากจะช่วยให้มีจังหวะการทำงานที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดภาระของงานอันหนักหน่วง โดยการหั่นงานใหญ่ๆ ให้ย่อยลงเป็นชิ้นเล็กๆ ที่สามารถทำให้สำเร็จได้ง่ายๆ อีกด้วย อันที่จริง 52 นาทีถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด แต่ทั้งนี้ หนึ่งชั่วโมงก็ให้ผลที่ดีได้ไม่ได้ต่างกัน
  2. ซื่อสัตย์กับเวลาการทำงานของคุณ วิธีการแบ่งการทำงานเป็นช่วงๆ จะให้ผลดีก็ต่อเมื่อเราตั้งใจทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อต้องการให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ดังนั้น หากไม่ให้เกียรติช่วงเวลางานของตัวเองโดยการแอบส่งข้อความ เช็คอีเมล หรือเล่นเฟซบุ๊คตลอดช่วงเวลางาน ก็เท่ากับว่าจุดประสงค์ของวิธีนี้ได้ถูกทำลายด้วยตัวคุณเองไปเรียบร้อยแล้ว
  3. เมื่อถึงเวลาพัก ก็ต้องพักอย่างแท้จริง  จากงานวิจัยของ Draugiem พบว่า พนักงานที่พักผ่อนระหว่างงานบ่อยๆ จะทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้พักเลย ในทำนองเดียวกัน คนที่ตั้งใจพักผ่อนจริงๆ ก็ย่อมทำงานได้ดีกว่าคนที่พักผ่อนแบบผิดๆ เพราะการปลีกตัวออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่ตารางงาน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ การเดินออกไปยืดเส้นยืดสาย การอ่านหนังสือ หรือการพูดคุยกับผู้อื่น ต่างเป็นวิธีการผ่อนคลายที่ให้ผลดีกว่าทั้งสิ้น เพราะมันช่วยให้เราสามารถพักเรื่องงานไว้ได้อย่างแท้จริง แม้ว่าในวันที่งานยุ่งสุดๆ ก็ตาม
  4. อย่ารอให้ถึงวันที่ร่างกายต้องร้องขอให้คุณหยุดพัก เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมัวรอให้ถึงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยจริงๆ ถึงค่อยพัก คุณจะรู้ทันทีเลยว่า เมื่อนั้นมันได้สายเกินไปเสียแล้ว เนื่องจากคุณได้พลาดโอกาสในการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดไปนั่นเอง การทำตารางเวลาชีวิตเอาไว้ เป็นการช่วยให้มั่นใจว่า เราจะได้ทำงานในช่วงเวลาที่ดีที่สุดเสมอ รวมถึงได้พักในช่วงที่เหนื่อยล้า ดังนั้น ขอให้จำไว้ว่า การพักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆ จะช่วยให้ผลของการทำงานออกมาดีกว่าการฝืนทำไปในช่วงเวลาที่ร่างกายเหนื่อยล้า และไม่พร้อมเผชิญหน้ากับงาน

กล่าวโดยสรุป

การแบ่งเวลาในหนึ่งวัน สำหรับการทำงานและการพักผ่อนสลับกันอย่างเหมาะสมกับลักษณะนิสัยในการทำงานของตัวเองนั้น เป็นอะไรที่จะช่วยให้เราผ่อนคลายได้มากขึ้น แถมยังกระตุ้นให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เคยด้วย

 

Source : TalentSmart.com