หลายคนคงจำความรู้สึกนี้ได้ดี ในตอนที่มีอีเมล์ที่ยังไม่ได้อ่านหลายสิบฉบับ หรือมีรายงานที่วางกองเป็นตั้งๆ โดยคุณก็บอกกับตัวเองว่าอีก 30 นาที คุณจะต้องสะสางงานพวกนี้ให้เสร็จ แต่แล้วก็เช่นเคย ล่วงเลยมาไม่เป็นไปตามที่หวังไว้
ความจริงแล้วปัญหานี้ใครๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น นั่นก็คือการ “ผัดวันประกันพรุ่ง” พวกเราผ่านจุดนี้มากันทุกคน แต่บางคนก็กลับเป็นแบบนี้ทุกวัน คนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งจนติดเป็นนิสัยและชอบพูดว่า “ไว้ค่อยทำทีหลัง” จนนับไม่ถ้วน สุดท้ายงานที่ค้างวันแล้ววันเล่าก็ล้นออกมาจนรับมือไม่ไหวอีกต่อไป และจมกับคำพูดในหัวว่า “ไม่น่าทำแบบนี้เลย” คำถามก็คือ ทำไมคนเราถึงชอบผัดวันประกันพรุ่งล่ะ? และมีวิธีใดบ้างไหมที่จะช่วยให้เราเลิกนิสัยแย่ๆ นี้ได้?
ทำไมคนเราถึงผัดวันประกันพรุ่ง?
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Research in Personality พบว่า คนที่มักจะผัดวันประกันพรุ่งจนติดเป็นนิสัยนั้น จะถนัดในเรื่องของการเลื่อนงานออกไป สุดท้ายนิสัยนี้ก็จะกลายเป็นลักษณะนิสัยที่ติดตัวไปตลอด ซึ่งนิสัยผัดวันประกันพรุ่งนี้เป็นนิสัยที่แก้ยาก เพราะลักษณะนิสัยในปัจจุบันจะส่งเสริมให้เราผัดผ่อนงานออกไปตลอด ในความเป็นจริงแล้ว เราเกือบทุกคนก็มีนิสัยผัดงานด้วยกันทั้งนั้น แต่จากการสำรวจของเว็บไซต์ Psychology Today กลับพบว่า ผู้ที่ยอมรับว่าตนเองเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นเอง ดังนั้นหากคุณกำลังมีปัญหากับการจัดการชีวิตและการงานให้มีประสิทธิภาพ หรือกำลังขาดแรงจูงใจในชีวิต แสดงว่าคุณอาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นคนที่ผัดวันประกันพรุ่งจนติดเป็นนิสัยก็ได้
และนี่ก็คือ 2 วิธีที่ต้องทำ ในการจะช่วยกำจัด “นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง” ของคุณให้หายไปได้
1. เพียงแค่เริ่ม “ลงมือทำ”
การเริ่มต้นทำงานอาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง แต่ถ้าเราสามารถฝืนตัวเองให้เริ่มทำงานได้แล้วล่ะก็ เราก็จะเหมือนถูกสะกดให้ทำงานนั้นต่อไปเรื่อยๆ จนจบ นั่นเพราะว่าสมองของเราจะถูกบังคับด้วยสิ่งที่เรียกว่า Zeigarnik effect (เซกานิก เอฟเฟค) ที่จะช่วยให้เราทำสิ่งที่ริเริ่มมาจนเสร็จสิ้นให้ได้ ดังนั้น วิธีที่จะจัดการกับนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้ก็คือ ‘ททท.’ ที่ย่อมาจากคำว่า “ทำ ทัน ที” นั่นเอง
“ททท. = ทำ ทัน ที”
2. แบ่งงานใหญ่ ให้กลายเป็นงานเล็กๆ
บางงานอาจจะง่ายก็จริงแต่ปัญหากลับอยู่ที่การเริ่มต้นทำงาน ที่เรามักจะเลื่อนงานใหญ่ๆ ที่ใช้เวลานานออกไปก่อน เพราะกลัวว่างานนั้นจะแย่งเอาเวลาของเราไปเสียหมด และทำให้ห้องหรือโต๊ะทำงานนั้นรกจนอึดอัดวุ่นวาย
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกเคล็ดลับหนึ่งที่ได้รับการรับรองทางจิตวิทยาว่าสามารถทำให้เราเลิกกลัวการเริ่มต้นได้ นั่นก็คือ ‘การแบ่งงานใหญ่ๆ ให้กลายเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ หลายขั้นตอน’ ซึ่งการแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ จะสามารถทำให้งานเสร็จได้ง่ายกว่าการทำชิ้นใหญ่ให้เสร็จภายในทีเดียว ดังนั้นวิธีนี้จึงช่วยทำให้เริ่มต้นการทำงานของคุณง่ายมากยิ่งขึ้นไปอีก
“ไม่มีปัญหาใหญ่ใดๆ ทั้งนั้น มีเพียงแต่ปัญหาเล็กๆ จำนวนมาก” — เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford)
ดังที่ได้กล่าวไปในข้อแรกว่า “การเริ่มต้นลงมือทำ” จะช่วยให้เรามีแรงผลักดันทำงานจนเสร็จได้ และต่อมาข้อสอง “การแบ่งงาน” ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้งานของคุณสำเร็จลุล่วงได้ไวยิ่งขึ้นนั่นเอง ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราก็จะมีเวลาว่างมากขึ้นเมื่อเราสามารถขจัดนิสัยผัดวันประกันพรุ่งเหล่านี้ออกไปได้
Source: Success