การอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีในการรับชมและรับฟังมากมาย แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของภาษาเขียน และทุกวันนี้ การใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้คนสื่อสารกันผ่านตัวหนังสือมากกว่าที่เคย
งานวิจัยจำนวนมากพบว่า การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งการฝึกอ่านออกเขียนได้อาจกลายเป็นเรื่องที่ยาก ถ้าไม่ได้ฝึกทักษะพื้นฐานตั้งแต่ก่อนชั้น ป.3
เอริน กันจู สมาชิกองค์กร YPO (Young Presidents Organization) เป็นอีกหนึ่งคนที่หวังอยากให้เด็กๆ ได้รับประโยชน์จากนิสัยรักการอ่าน เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของ Room to Read องค์กรมุ่งเน้นการสอนอ่านเขียนให้แก่เด็กช่วงชั้นประถม ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่จะตัดสินว่าเด็กจะสร้างทักษะและนิสัยรักการอ่านเพื่อเป็นนักอ่านที่ดีในอนาคตได้หรือไม่
กันจูเริ่มมีชื่อเสียงจากการถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้หญิงมหัศจรรย์ เธออุทิศตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก ๆ ในประเทศยากไร้หลายล้านคน โดยเน้นไปที่การสอนอ่านเขียนและการศึกษาที่เท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งเธอได้แบ่งปันวิธีการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านที่สำคัญ 9 อย่าง ที่จะทำให้ลูกของคุณรักการเรียนรู้และประสบความสำเร็จในอนาคต
1. เริ่มต้นด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
พัฒนาการทางภาษาของเด็กจะมีประโยชน์เมื่อได้รู้จักกับคำศัพท์มากขึ้น ดังนั้น กันจูจึงแนะนำว่า “พ่อแม่หรือผู้ดูแลควรจะพูดคุย ร้องเพลง และอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่เล็กๆ” โดยตัวเธอเองก็เริ่มอ่านนิทานให้ลูกสาวฟังเป็นเวลาประมาณ 10-15 นาที ก่อนนอนเช่นกัน
2. เป็นตัวอย่างที่ดีในการ “รักการอ่าน”
เด็กๆ ให้คุณค่ากับสิ่งที่พวกเขาเห็นพ่อแม่ทำ ผู้ใหญ่จึงควรอ่านหนังสือในชีวิตประจำวันให้พวกเขาเห็น “เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เรื่อง” กันจู ย้ำว่า “ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณ ถ้าเห็นคุณสนุกกับการอ่านหนังสือดีๆ พวกเขาก็จะอยากอ่านหนังสือไปด้วย”
3. จริงจังในการอ่านออกเสียง
เด็กๆ มักจะรู้สึกตามเรื่องที่เล่ามากขึ้นเมื่อมีผู้ใหญ่อ่านให้ฟังด้วยความกะตือรือล้น กันจูแนะนำเคล็ดลับของเธอว่า “ฉันใช้เสียงกับสีหน้าที่แตกต่าง เวลาเล่าเรื่อง แล้วก็ชอบอ่านออกเสียงดังๆ ด้วย โดยเฉพาะตอนไปเยี่ยมห้องสมุดโรงเรียนใน แทนซาเนีย หรือที่อินเดีย เพราะถึงแม้เราจะไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกัน แต่การอ่านให้ฟังก็ทำให้เรื่องเล่ามีชีวิตชีวาและสร้างความตื่นเต้นให้เด็กๆ ได้ ลองทำตัวเปิ่นๆ หรือติ้งต๊องหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก กิจกรรมการอ่านหนังสือให้ฟังเป็นที่นิยมมากที่สุดในโครงการของเรา และเราก็มีการฝึกให้ครูบรรณารักษ์ของเราทุกคนทำกิจกรรมนี้ด้วย” จากการสำรวจพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กๆ ที่ร่วมโครงการ Room to Read บอกว่าหนังสือเล่มโปรดของพวกเขาก็คือเล่มเดียวกับที่คุณครูหรือบรรณารักษ์เป็นคนอ่านให้ฟังนั่นเอง
4. กระตุ้นให้เด็กอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน
“การอ่านไม่ควรเป็นแค่การบ้านหรือการเรียนเท่านั้น” กันจูแนะนำ เด็กๆ ควรได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือที่ตนสนใจ และมีเวลาว่างไว้อ่านหนังสือในแต่ละวันด้วย “ให้เวลาลูกได้อ่านหนังสือที่พวกเขาชอบเพื่อส่งเสริมการอ่านเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน”
5. แนะนำลูกๆ ให้รู้จักหนังสือคุณภาพและหลากหลายแบบ
คุณภาพของวรรณกรรมที่เด็กเข้าถึงได้มีผลต่อการปลูกฝังนิสัยการอ่านที่ดีด้วย เช่นเดียวกับความดึงดูดใจของหนังสือด้วย ดังที่ กันจู กล่าว “เด็กๆ ในโครงการของเราบอกเสมอว่าพวกเขาชอบอ่านหนังสือที่มีรูปลักษณ์และภาพประกอบอันสวยงาม แต่บางคนก็ชอบหนังสือจำพวก เทพนิยายและแฟนตาซี” ดังนั้น “Room to Read จึงต้องการให้เด็กนักเรียนมีตัวเลือกในการอ่านที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทานภาพ เรื่องเล่าที่มีตัวละครน่ารักๆ หนังสือบอร์ดที่มีคำศัพท์เหมาะสมตามวัย และหนังสือที่เด็กเล็กๆ ก็อ่านได้…” การนำเสนอหนังสือหลายแบบให้เด็กเลือก จะเพิ่มโอกาสให้พวกเขาได้พบหนังสือที่ชื่นชอบและสนใจกับการอ่านมากขึ้น
6. พาลูกๆ ไปห้องสมุดหรือร้านหนังสือ
การเข้าห้องสมุดชุมชนหรือร้านหนังสือบ่อยๆ ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่คุณสามารถทำร่วมกับลูกได้ เพื่อความสนุกสนานและทำให้สายใยครอบครัวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กันจูแนะนำว่า “อยากให้พ่อแม่ทุกคนเดินสำรวจชั้นหนังสือเด็ก และหยิบหนังสือจากชั้นมาเปิดดูด้วยกันกับลูก” ซึ่งเธอเองก็ทำแบบนี้เช่นกัน จนลูกสาวของเธอเริ่มออกปากขอหนังสือเป็นของขวัญหรือรางวัลจากการทำตัวดีจากเธอ “ฉันภูมิใจมากเมื่อรู้ว่าหนังสือเป็นสิ่งที่ลูกตื่นเต้นอยากได้มันจริงๆ” เธอกล่าว
7. ทำกิจกรรมเข้าห้องสมุดให้เป็นการออกสำรวจ ไม่ใช่การเรียน
Room to Read พบว่าเด็กบางคนในโครงการจะมีแรงกระตุ้นในการอ่านน้อย ถ้าชั่วโมงห้องสมุดกลายเป็นเวลาที่ต้องอ่านบทเรียนอย่างจริงจัง “ให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่แห่งการค้นหาและผจญภัย” เธอแนะต่อว่า “วิธีที่ได้ผลยิ่งไปกว่านั้นคือ เน้นการสอนทักษะอย่างเป็นระบบในห้องเรียน แล้วส่งเสริมการอ่านในห้องสมุด”
8. สนับสนุนให้ครูและบรรณารักษ์ที่โรงเรียนฝึกอบรมเฉพาะทาง
มีหลายงานวิจัยสรุปว่า ช่วงชั้นประถมปีที่ 1-2 เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการปูพื้นฐานการอ่าน ครูและบรรณารักษ์อาจจะมีทักษะในการสอนเนื้อหาความรู้ แต่ไม่เคยเข้าฝึกอบรมเรื่องวิธีการปลูกฝังความรักการอ่านเลย “เราจึงมีการจัดเวิร์กช็อปและการฝึกให้ครูและบรรณารักษ์ช่วยกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กๆ” เธออธิบาย ผลลัพธ์ที่ Room to Read ได้กลับมานั้นดีเกินคาด นักเรียนในโครงการฝึกอ่านเขียนของพวกเขาพัฒนาความสามารถจนล้ำหน้านักเรียนจากโรงเรียนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งในด้านความคล่อง และความเข้าใจในการอ่าน
9. เปิดรับยุคแห่งข้อมูลแบบดิจิตอล
การเปลี่ยนผ่านไปสู่การอ่านแบบดิจิตอลเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม แม้จะไม่มีอะไรเทียบได้กับสัมผัสจากหนังสือที่อยู่ในมือคุณก็ตาม ทุกวันนี้หลายครอบครัวและห้องเรียนก็เริ่มนำหนังสืออิเล็คทรอนิกส์และเทคโนโลยีในการเรียนรู้ภาษาอื่นๆ มาใช้แล้ว กันจูเชื่อว่า “พ่อแม่ควรมองเห็นว่าเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขนาดไหนในการกระตุ้นให้เด็กอ่านหนังสือและพัฒนาทักษะในการใช้ภาษา ฉันยังสนับสนุนการอ่านหนังสือแบบเป็นเล่ม และไม่คิดว่าเด็กๆ ควรจะเลิกอ่านนะ แต่ถ้ามีการอ่านแบบดิจิตอลเข้าไปบ้างเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ก็ไม่เลวทีเดียว
Source : INC