งานวิจัยเผย “การฟังดนตรี” ขณะทำงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้

16298

ในที่ทำงานมักจะมีสิ่งมากมายนับไม่ถ้วนที่ทำให้คุณเสียสมาธิได้ง่ายๆ แต่คุณรู้ไหมว่า มีสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยคุณจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ และทำให้คุณมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นได้อีกด้วย สิ่งนั้นก็คือ ‘ดนตรี’ นั่นเอง

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Birmingham ประเทศอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า ดนตรีมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คุณมีสมาธิและมีประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น หากคุณกำลังเบื่อที่ต้องทำงานซ้ำๆ นั่งเช็คอีเมล์ไปวันๆ การลองเพิ่มเสียงดนตรีเข้าไป ก็อาจจะช่วยให้คุณทำงานได้ดีและรวดเร็วขึ้น

แต่ถ้างานของคุณเป็นงานที่ต้องใช้สมองซะส่วนมาก การเลือกดนตรีหรือเพลงให้เหมาะสมก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โชคดีที่วิทยาศาสตร์ได้หาคำตอบมาให้คุณแล้ว

และต่อไปนี้ก็จะเป็นประเภทของดนตรีที่จะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครั้งต่อไปก็ลองเปิดเพลงประเภทนี้พร้อมกับนั่งทำงานไปด้วย ไม่แน่ว่าคุณอาจมีสมาธิเพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจเลยล่ะ!

ฟังดนตรีที่มีเสียงธรรมชาติ

นักวิจัยจาก Rensselaer Polytechnic Institute ค้นพบว่า การเพิ่มเสียงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน จะช่วยให้คุณมีอารมณ์ที่ดีและมีสมาธิมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้กระบวนการทางความคิดทำงานได้ดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น และมีความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้นด้วย ซึ่งเสียงที่นักวิจัยใช้ในการวิจัยคือเสียงน้ำจากลำธาร โดยผลก็คือเสียงน้ำจากลำธารนี้ไม่ได้ทำให้กลุ่มตัวอย่างเสียสมาธิแต่อย่างใด

ฟังเพลงที่คุณชื่นชอบ

การฟังดนตรีที่คุณชื่นชอบสามารถทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ Teresa Lesiuk ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านดนตรีบำบัด จากมหาวิทยาลัย Miami พบว่า การมีความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับดนตรีเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะคนที่มีทักษะในสาขาอาชีพของตน โดยกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยนี้คือ บุคคลที่มักฟังเพลงที่ชื่นชอบในขณะทำงาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คืองานจะสำเร็จเร็วขึ้น อีกทั้งยังมีไอเดียในการทำงานที่ดีกว่ากลุ่มคนที่ไม่ฟังอีกด้วย เนื่องจากเพลงที่ชอบสามารถทำให้คนอารมณ์ดีขึ้นได้นั่นเอง

Teresa กล่าวกับ The New York Times ว่า “เมื่อคุณเครียด คุณมักจะตัดสินใจทำอะไรเร็วกว่าปกติ เพราะคุณจะไม่มีสมาธิอยู่กับสิ่งๆ นั้น และเมื่อคุณอารมณ์ดี คุณจะมองเห็นทางเลือกได้หลากหลายกว่า”

แต่ก็อย่าเพลิดเพลินกับมันเกินไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยอื่นที่แย้งว่า ดนตรีที่คุณไม่ได้รู้สึกชื่นชอบมากมายนักจะให้ผลดีกว่าดนตรีที่คุณชอบมากๆ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Fu Jen Catholic ในเมืองซินจวง ประเทศไต้หวัน ได้ศึกษาว่าความชื่นชอบในดนตรีจะสามารถส่งผลต่อสมาธิของเราได้ โดยพบว่า เมื่อคนเราฟังเพลงที่ชอบมากๆ หรือเกลียดมากๆ ในขณะที่ทำงานจะทำให้เสียสมาธิได้

ฟังดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้อง

งานวิจัยจาก Cambridge Sound Management พบว่า คำร้องคือสิ่งที่ทำให้เราเสียสมาธิเนื่องจากเรามักจะให้ความสนใจกับคำร้องมากกว่างานที่เรากำลังทำอยู่ เหมือนกับเวลาที่คุณได้ยินคนพูดนั่นแหละ คุณมักจะหยุดการทำงานและหันไปฟังว่าเขาพูดว่าอะไร งานวิจัยของ Cambridge ในปี 2551 ชี้ว่า 48% ของคนทำงาน จะถูกทำลายสมาธิได้โดยง่ายจากคำพูด หรือการฟังคนอื่นคุยกัน คุณมักจะไม่มีสมาธิเท่าที่ควรหากคุณฟังเพลงที่มีเนื้อร้องควบคู่ไปด้วย เพราะสมาธิของคุณมักจะไปอยู่กับเนื้อร้องมากกว่า

ดังนั้น หากคุณต้องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การฟังเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ฟังเพลงที่มีจังหวะเหมาะกับคุณ

จังหวะของเพลงสามารถเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีได้เลยทีเดียว งานวิจัยหนึ่งของนักวิจัยชาวแคนาดาระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่ฟังเพลงที่มีจังหวะเร็วในขณะที่ทำแบบทดสอบวัด IQ จะทำแบบทดสอบออกมาได้ดีกว่า ถ้างานของคุณต้องการความกระตือรือร้น ลองฟังเพลงที่มีจังหวะเร็วๆ เช่น ดนตรีบาโรก ก็เป็นตัวเลือกที่ดี ถ้าต้องการในงานสำเร็จอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ งานวิจัยเล็กๆ ของแพทย์รังสีวิทยา จากมหาวิทยาลัย Maryland และโรงพยาบาลHarbor รวมถึงมหาวิทยาลัย Pennsylvania Health System ได้ข้อสรุปว่า การฟังดนตรีบาโรกจะช่วยให้งานดำเนินไปได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังมีอารมณ์ที่ดีขึ้นอีกด้วย

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง จาก BMS College of Engineering ประเทศมาเลเซีย ระบุว่า การฟังดนตรีที่มีจังหวะประมาณ 60 บีทต่อนาที ศัพท์ทางดนตรีจะเรียกว่า larghetto แปลว่าเพลงที่ไม่เร็วมากและค่อนข้างช้า จะช่วยลดความเครียดรวมถึงช่วยให้ผ่อนคลายได้อีกด้วย

ฟังเพลงที่มีระดับความดังที่พอดี

ระดับความดังของเพลงก็มีผลต่อการทำงานเช่นกัน งานวิจัยจากทั้งสามมหาวิทยาลัย University of Illinois , University of British Columbia และ University of Virginia ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า เสียงที่พอเหมาะพอดี จะช่วยให้คนทำงานมีความคิดที่สร้างสรรค์มากขึ้น ทั้งเสียงดังหรือเสียงปกติต่างมีผลทำให้ความคิดของคุณเปิดกว้างขึ้น แต่ถ้าเสียงดังเกินไปก็อาจทำให้สมองทำงานได้แย่ลงได้ด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ ถ้าเพลงที่คุณเปิดดังจนกลบเสียงภายนอกไปหมด นั่นแปลว่าเพลงคุณดังเกินไปแล้วล่ะ และหากเพลงของคุณเบาจนไม่สามารถกลบเสียงบทสนทนาของคนข้างๆ คุณได้เลย ก็แปลว่าเพลงที่คุณฟังอยู่เบาเกินไปนั่นเอง

 

Source :Business Insider