“บุคลิกภาพ 4 ด้าน” ที่ทุกคนควรรู้! เพื่อร่วมงานกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

10733

การทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็น เพื่อนร่วมงาน หรือ CEO ได้ดีนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมการทำงานในองค์กร เพราะทุกวันนี้ ความเป็นทีมเวิร์คเท่านั้นที่นำมาซึ่งงานที่มีคุณภาพ แต่ปัญหาคือ วิธีสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นมักไม่ใช่เรื่องที่ถูกสอนกันในโรงเรียนเท่าไหร่นัก ถึงแม้ว่านักเรียนควรต้องมีทักษะสำหรับการทำงานในอนาคต แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้ถูกรวมในการประเมินมาตรฐานของผู้เรียนด้วย  ยิ่งไปกว่านั้นกุญแจสำคัญในการเข้ากับผู้อื่น ซึ่งก็คือการเข้าใจตัวเองก็ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาทั่วไปเช่นกัน

ลอร์ร่า กาเน็ตต์ ผู้ให้คำแนะนำทางธุรกิจจึงต้องให้ลูกค้าใหม่ทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) เสมอ เพื่อที่จะประเมินพวกเขาโดยมองเห็น 4 ขั้วหลักของบุคลิกภาพอันได้แก่ ชอบเข้าสังคม/ชอบอยู่คนเดียว, ใช้สัมผัส/สัญชาตญาณ(ผู้สร้าง/ผู้ขับเคลื่อน), ใช้ความคิด/ความรู้สึก และ ชอบตัดสิน/ชอบทำความเข้าใจ (คิดอย่างเป็นระบบ/ไม่เป็นระบบ)

เธอค้นพบว่าบุคลิกทั้งสี่ด้านนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดการปัญหาต่างๆ ในการทำงานร่วมกับผู้คนมากมาย ดังนั้น การใส่ใจกับประเภทบุคลิกภาพของตนเองและผู้ร่วมงานจึงทำให้คุณทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น

มาดูกันว่าในบุคลิกภาพทั้ง 4 แบบนี้ เราพบปัญหาอะไรและมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง?

 

1. ชอบเข้าสังคม (Extrovert) หรือ ชอบอยู่คนเดียว (Introvert)

ปัญหาที่อาจเกิด: คนที่ชอบเข้าสังคมชอบที่จะคิดด้วยการพูดคุยแบ่งปันกับผู้อื่น ส่วนคนที่ชอบอยู่คนเดียวจะอยากพูดก็ต่อเมื่อได้ใช้เวลาคิดอยู่คนเดียวพอสมควรแล้ว มันอาจเกิดปัญหาได้หากคน 2 ประเภทนี้ไม่เข้าใจธรรมชาติของกันและกัน

วิธีที่อาจแก้ได้:  เมื่ออยู่ในที่ประชุมหรือต้องทำโปรเจ็คร่วมกัน ให้ลองเสนอแผนการทำงานของคุณให้เพื่อนร่วมงานฟังเพื่อให้แน่ใจว่าคนอื่นๆ พึงพอใจที่จะทำตามไหม โดยอาจถามว่า “ผมอยากให้พวกเราระดมความคิดใหม่ๆ กัน พวกคุณเห็นด้วยไหม” หรือ “ผมอยากกลับไปคิดคนเดียวก่อนแล้วค่อยมาแชร์ให้ฟังได้ไหม”

2. ผู้สร้าง (Creator) หรือ ผู้ขับเคลื่อน (Operator)

ปัญหาที่อาจเกิด: ผู้สร้างชอบการพัฒนาและทำให้งานมีคุณภาพมากที่สุด พวกเขาชอบที่จะคิดหาระบบที่ดีกว่าเดิม และคิดค้นไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ ในทางกลับกัน ผู้ขับเคลื่อนจะอยู่กับสิ่งที่มีอยู่และยังมีประสิทธิภาพดี ทำไมเราต้องซ่อมอะไรที่ไม่พังล่ะ? ผู้ขับเคลื่อนจะรู้สึกสบายใจเมื่องานของเขามีแผนตายตัวอยู่แล้ว แต่ผู้สร้างจะชอบการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเองแล้วลืมกฎเดิมๆ ไป

วิธีที่อาจแก้ได้: พยายามทำความเข้าใจว่าเพื่อนร่วมงานของคุณมีลักษณะเป็นผู้สร้างหรือผู้ขับเคลื่อน เพราะการทำงานจะเป็นไปอย่างยากลำบากถ้าคนทั้งสองประเภทนี้ต้องทำสิ่งที่ตรงข้ามกับธรรมชาติของตัวเอง ซึ่งคุณสามารถใช้ความรู้นี้ในการแบ่งงานให้แต่ละคนได้อย่างเหมาะสมได้

3. นักคิด (Thinker) หรือ นักใช้ความรู้สึก (Feeler)

ปัญหาที่อาจเกิด: คนสองประเภทนี้อาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนที่จัดเป็นนักคิดจะต้องการอะไรที่มีเหตุผลและข้อมูลรองรับ แต่นักใช้ความรู้สึกมักจะใช้อารมณ์และสัญชาติญาณของตนมากกว่า

วิธีที่อาจแก้ได้: นักใช้ความรู้สึกน่าจะเก่งเรื่องการบริหารดูแลคนมากกว่าเพราะพวกเขาใช้ความรู้สึกเป็นหลัก ส่วนกลุ่มนักคิดนั้นจะทำงานกับข้อมูลและการวิเคราะห์ได้ดีเนื่องจากพวกเขาเก่งเรื่องการคำนวณ โดยทั้ง 2 บุคลิกนี้จะทำงานช่วยเหลือกันได้ดีหากเรียนรู้ที่จะเคารพมุมมองซึ่งกันและกัน

4. คิดอย่างเป็นระบบ (Structured) หรือ คิดไม่เป็นระบบ (nonstructured)

ปัญหาที่อาจเกิด:  องค์กรส่วนใหญ่จะไปในทิศทางที่เน้นโครงสร้างที่เป็นระบบ  ดังนั้นคนที่ไม่ชอบการวางแผนอาจเป็นที่ยอมรับได้ยาก แต่ส่วนใหญ่พวกที่คิดไม่เป็นระบบนั้นมักจะมีความสร้างสรรค์และวิธีคิดในแบบของตัวเอง เพียงแต่คนอื่นอาจมองไม่เห็น ดังนั้นอิสระทางความคิดจึงสำคัญ เพราะการวางแผนแบบละเอียดอาจไปยับยั้งความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาได้ ส่วนกลุ่มคนที่คิดอย่างเป็นระบบก็ต้องการวางแผนการจัดการและรูปแบบการทำงานให้สำเร็จลุล่วงเช่นเดียวกัน

วิธีที่อาจแก้ปัญหาได้: บุคลิกภาพส่วนนี้แหละที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งมากมาย คุณต้องรู้จักตัวเองก่อน แล้วค่อยหาบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้ากับคุณได้  อย่ารีบตัดสินคนอื่นหากคุณกำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ ให้สมาชิกแต่ละคนได้บอกเล่าแนวคิดในการทำงานของตนเพื่อหาจุดกึ่งกลางในการทำงานร่วมกัน  แม้ว่าโลกธุรกิจโดยส่วนมากจะมีความเป็นระบบระเบียบ มีโครงสร้างชัดเจนจึงทำให้คนทำงานที่คิดอย่างเป็นระบบมีมากกว่าคนอีกประเภทอยู่แล้ว แต่ก็อย่าเพิ่งสูญเสียความมั่นใจถ้าคุณไม่ใช่คนคิดอย่างเป็นระบบ ลองมองหางานที่เปิดพื้นที่ให้คุณได้ใช้ความสามารถนี้ในแบบของตัวเองให้เกิดประโยชน์มากที่สุดดูสิ

 

Source:Inc-asean