ทำไมมหาลัยถึงควรเลิกใช้ PowerPoint ในการเรียนการสอน?

3561

บทความหนึ่งในเว็บไซต์ The Conversation ได้เสนอว่า “มหาวิทยาลัยควรห้ามการใช้ PowerPoint เนื่องจากทำให้นักศึกษาไม่ฉลาดและอาจารย์ดูน่าเบื่อ” แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่คงจะไม่สนใจคำชี้แนะนี้เท่าไหร่นัก เนื่องจากพวกเขาไม่ได้วัดผลสัมฤทธิ์จากสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้ไป แต่วัดเพียงแค่ความพึงพอใจของนักศึกษาเพียงเท่านั้น

แล้ว PowerPoint มันไม่ดีตรงไหน?

การใช้ PowerPoint ในการเรียนการสอน มาจากความเชื่อว่าจะสามารถดึงความสนใจของนักศึกษาได้มากกว่าการให้นักศึกษาอ่านหนังสือ จดเลคเชอร์ในห้องเรียน หรือทำการบ้าน ซึ่งหลักสูตรที่ออกแบบโดยใช้ PowerPoint สอนนั้น จึงนำมาซึ่งความเชื่อที่ว่านักเรียนจะมีทักษะและความรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือหรือบทความเป็นจำนวนมากนั่นเอง

ซึ่งก็มี งานวิจัย ที่พบว่า นักศึกษาต่างก็ชอบเรียนผ่าน PowerPoint มากกว่าเครืองฉายแผ่นสไลด์หรือแผ่นใส  แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนและคะแนนของพวกเขาอยู่ดี และเช่นเดียวกันเครื่องฉายแผ่นสไลด์ก็ไม่ให้ผลดีไปมากกว่ากันนัก นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่ง งานวิจัย ที่พบว่า การเรียนการสอนแบบอื่นๆ อย่างเช่น ให้นักเรียนได้ทดลองลงมือทำ ได้พบเจอกับปัญหาจริงๆ เหล่านั้นจริงๆ กลับมีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งอ่านตามสไลด์อีกด้วย

3 ข้อเสียของการใช้ Power Point ต่อการศึกษา

ข้อแรก: สไลด์ PowerPoint ช่วยให้อาจารย์นำเสนอความคิดที่ซับซ้อนในแบบที่เข้าใจง่ายขึ้นได้ ด้วยการจั่วหัวข้อเรื่อง แผนผัง และรายละเอียดเพียงเล็กน้อย แต่มันก็แทบไม่สามารถใช้นำเสนอการวิเคราะห์เชิงลึกในเรื่องที่ซับซ้อนได้ และอาจทำให้ผู้เรียนไม่ได้ใช้ความคิดวิเคราะห์จนทำให้เกิดความเข้าใจแบบผิดๆ ได้

ข้อที่สอง:  การเรียนการสอนผ่านสไลด์ ทำให้ผู้เรียนมองว่าเนื้อหาในวิชานั้นมีแค่ที่อยู่บนสไลด์นี้เท่านั้น และกลับกลายเป็นว่า ผู้สอนเก่ง ๆ ที่เน้นการนำเสนอผ่านข้อเท็จจริงอันซับซ้อนและเข้าใจยากกว่านั้นจึงถูกมองว่าสอนได้ไม่ดีและไม่ชัดเจน อีกทั้งผู้สอนที่เน้นการใช้สไลด์นำเสนอข้อมูลเชิงกราฟิคก็ถูกมองว่าไม่ใส่เนื้อหาให้ผู้เรียนจดตามได้

ข้อที่สาม:  PowerPoint ทำให้ผู้เรียนคาดหวังว่าในสไลด์จะต้องมีเนื้อสำคัญในการทำโปรเจ็ค การสอบ หรือการบ้านอยู่ในนั้นทั้งหมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนไปฟังอาจารย์สอนหรืออ่านหนังสือทบทวนอย่างจริงจัง ในเมื่อพวกเขาคิดว่าเพียงแค่บันทึกไฟล์ PowerPoint หรือแค่ถ่ายภาพสไลด์ไว้อ่านเองที่บ้านก็นับว่าเพียงพอ

เกณฑ์วัดผลที่ผิดจุดประสงค์

หาก PowerPoint ไม่ดี แล้วทำไมจึงยังได้รับความนิยม? นั่นเป็นเพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้วัดที่การเรียนรู้ แต่กลับเป็นความพึงพอใจของผู้เรียน เมื่อเห็นว่าผู้เรียนพึงพอใจกับการเรียนผ่านสไลด์ จึงทำให้มันถูกใช้ต่อมาเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพในการเรียนการสอนจะน้อยก็ตาม

ในขณะที่โรงพยาบาลวัดผลสัมฤทธิ์จากจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต บริษัทต่าง ๆ ก็วัดผลจากรายได้และผลกำไร ส่วนรัฐบาลก็วัดผลจากปริมาณการว่างงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) หรือแม้แต่เว็บไซต์ก็ยังต้องประเมินผลจากจำนวนผู้เข้าชม แต่แล้วทำไมมหาวิทยาลัยถึงไม่วัดที่การเรียนรู้ด้วยล่ะ? อย่างเช่น การสอบ งานในชั้นเรียน และโครงงานกลุ่ม ที่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องใช้เวลายาวนานในการติดตามพัฒนาการและทักษะความรู้ของผู้เรียน

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แย่หน่อยที่ทุกครั้งที่ใช้วิธีเหล่านี้ ผลกลับออกมาไม่น่าพอใจแม้แต่นิด อย่างที่นักวิจัยชาวอเมริกันพบว่า หนึ่งในสามของนักศึกษาระดับปริญญาตรีไม่มีพัฒนาการความรู้อย่างเห็นได้ชัดเลยตลอดระยะสี่ปีในมหาวิทยาลัย พวกเขาได้ทดสอบนักเรียนในช่วงต้น ช่วงกลาง และช่วงท้ายของหลักสูตรการศึกษา โดยใช้การประเมินผลการเรียนรู้ที่มีชื่อว่า Collegiate Learning Assessment ที่เป็นทักษะด้านการคิดวิเคราะห์โดยใช้เหตุผล (Analytic Reasoning) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การแก้ปัญหา (Problem Solving) และการเขียน (Writing) เพื่อทำการตอบคำถามแบบปลายเปิด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็สามารถนำการทดสอบที่คล้ายกันนี้ไปใช้เพื่อวัดการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ เพื่อจะประเมินประสิทธิภาพวิธีการสอนต่างๆ ต่อการเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเจ้า PowerPoint นี้ด้วย  

น่าเสียดายที่ผู้เรียนมักไม่ค่อยพอใจในวิธีการสอนที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริงได้ และตราบเท่าที่มหาวิทยาลัยยังเน้นการวัดผลโดยอิงแต่จากความพึงพอใจของผู้เรียนต่อไป ผู้เรียนก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการเรียนลดลงไปเรื่อย ๆ เช่นกัน

 

Source: Business insider