
“ด้วยสมองและสองเท้า เธอจะก้าวไปยังที่ใดก็ได้ ดั่งใจต้องการ”
— จากหนังสือ Oh! Places You’ll Go โดย Dr. Suess
หลายต่อหลายครั้งที่คุณมักได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘เลือกทำงานที่รัก แล้วคุณจะไม่ต้องทำงานอีกเลย’ แต่นั่นก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะบ่อยครั้งงานที่รักกลับทำให้คุณอึดอัด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบก็คือ มันเป็นกลไกการทำงานของสมองนั่นเอง
สมองส่วนหน้าสุด (Prefrontal cortex) เป็นสมองขั้นสูงซึ่งมีวิวัฒนาการมากที่สุด และยังมีเนื้อที่มากถึง 20% ของสมองทั้งหมด โดยสมองส่วนนี้มีหน้าที่หลักในการคิด การใช้เหตุผลและการแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้เราสามารถตั้งเป้าหมายชีวิตที่ซับซ้อน วางแผนอนาคต ยับยั้งชั่งใจ และจัดตารางชีวิตในแต่ละวัน จากบทบาทดังกล่าว หากเราจะเปรียบก้อนเนื้ออันทรงพลังชิ้นนี้ ก็นับได้ว่าเป็น CEO ของสมองก็คงจะไม่เกินจริงไปนัก แล้วเหตุใดบ่อยครั้งที่เรายังรู้สึกอึดอัดอยู่ ในเมื่อสมองส่วนดังกล่าวของเรานับได้ว่ามีประสิทธิภาพเหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกนี้แล้ว?
หากคุณสังเกตเรื่องของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา คุณจะพบว่า จำนวนแรงงานได้ลดลงอย่างมาก ในขณะที่ “แรงงานที่ใช้ความรู้” กลับเพิ่มขึ้น ปัจจัยสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ อุปสงค์ของตลาดแรงงาน กล่าวคือ เพื่อให้ได้งาน แรงงานในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีความสามารถในการติดต่อสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น พูดง่ายๆ คือต้องเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี รวมถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจแก้ปัญหา โดยความสามารถดังกล่าวจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของสมองส่วนหน้าสุด
ที่จริงแล้วเราไม่ได้ถกกันว่าปัจจุบันเราทำงานหนักกว่าอดีตมากหรือไม่ แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดแรงงานกำลังมองหาแรงงานที่สามารถใช้สมองเพื่อการจัดการได้ และประเด็นดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราต้องใช้เวลากว่า 100,000-1ล้านปีกว่าสมองส่วนหน้าสุดของเราจะมีการวิวัฒนาการเกิดขึ้น แล้วสามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน แล้วมนุษย์เราจะรอได้นานถึงขนาดนั้นหรือไม่?
ทำงานพร้อมกันหลายงานไม่ใช่คำตอบ
ปัจจุบันหากคุณได้มีโอกาสเข้าไปในแวดวงอุตสาหกรรม ในทุกๆ บริษัทเราจะพบพนักงานที่เบื่อหน่ายและขาดความสนใจกับงานที่ทำ นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะทำงานโดยขาดการวางแผน เพราะเชื่อว่าการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันคือวิธีเดียวที่จะจัดการกับงานกองโตที่ได้รับมอบหมาย
แต่ปัญหาคือ ด้วยการทำงานของสมองมนุษย์ สมาธิของเรานั้นมีค่อนข้างจำกัด นักวิทยาศาสตร์อย่าง Daniel Kahneman ผู้เขียน Attention and Effort ได้ทำการรวบรวมงานวิจัยที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว จากการประเมินเขาพบว่า หากพนักงานถูกรบกวนและไม่มีสมาธิในการทำงานพวกเขามีแนวโน้มทำงานให้สำเร็จล่าช้ากว่าพนักงานที่มีสมาธิในการทำงานถึง 40%
อันที่จริงแล้วการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันก็ไมได้เป็นปัญหามากนัก หากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ความเชื่อในเรื่องประโยชน์จากการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน กลับได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเสียยิ่งกว่าข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เสียอีก ซึ่งผลที่ตามมาของค่านิยมดังกล่าวคือ ความเหนื่อยล้าของพนักงานและคุณภาพงานที่ลดลง
สร้างพื้นที่ส่วนตัวด้วยตัวเอง
ความใส่ใจของเรามีขีดจำกัด หากต้องอยู่ในสถานการณ์หรือบทสนทนาที่ดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุด การปลีกตัวออกมาถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราทุกคนต้องการ “พื้นที่” ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จริงๆ เป็นรูปธรรม หรือ เวลาส่วนตัวชั่วขณะหนึ่งก็ตาม
คุณอาจคิดว่า แล้วเราจะไปหาพื้นที่ส่วนตัวได้จากที่ไหนในเมื่อมีความกดดันมากมายจากการทำงานตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น บางคนที่บอกว่า “หัวหน้าของฉันคาดหวังให้ฉันตอบคำถามให้ได้ในทันที” และ “การที่เพื่อนร่วมงานไว้ใจฉัน มันยิ่งเพิ่มความกดดันให้ฉัน เพราะราวกับว่าในห้องประชุมมีเพียงฉันคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบในทุกเรื่อง” แต่ถึงอย่างนั้น ทุกๆ ปัญหาย่อมมีทางออก
การสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อให้เข้าใจว่าเราก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัวของเราบ้างนั้นจำเป็นต่อความสำเร็จของพวกเขาเช่นกัน มีวิธีการมากมายที่สร้างสรรค์ในการสร้างขอบเขตความเป็นส่วนตัว อย่างเช่น ในกรณีโรงพยาบาลที่พวกเราทำการศึกษา พยาบาลจะสวมใส่สายสะพายสีสันสดใสขณะจ่ายยา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่กัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดพลาดร้ายแรงถึงชีวิต นอกจากนี้ ในบางบริษัทที่เราได้ทำการศึกษา ปัญหาเสียงรบกวนสมาธิในการทำงานทำให้พนักงานภายในบริษัทได้ออกแบบห้องประชุมเพื่อเป็นห้องทำงานที่ปลอดเสียงโดยเฉพาะ
พื้นที่ส่วนตัวเป็นสิ่งที่สามารถกำหนดและปรับเปลี่ยนได้อยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่คุณทำให้คนอื่นเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณ เมื่อนั้นแหละที่คนอื่นจะหันมาเคารพสิทธิของคุณ
เมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยน คุณต้องเปลี่ยนตาม
การต้องทำงานร่วมกัน แต่ก็ต้องเผชิญความขัดแย้งและถูกแทรกแซงอย่าไม่หยุดหย่อนไม่ใช่เรื่องแปลก
ในบริษัทยุคใหม่เราแทบจะไม่พบห้องทำงานส่วนตัวมากนัก ในทางกลับกัน เราจะพบว่าโต๊ะทำงานส่วนบุคคลจะถูกแทนที่ด้วยโต๊ะทำงานที่ไม่เจาะจงว่าเป็นของใคร ซึ่งจะมีพนักงานมากมายที่จะถูกสับเปลี่ยนให้มานั่งประจำโต๊ะดังกล่าว
แนวคิดแบบบริษัทยุคใหม่นี้แม้จะมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็ต้องแลกมากับพื้นที่ส่วนตัวของพนักงานที่ถูกทำลายลงไปซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของพนักงาน อย่างไรก็ตาม เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ยอมรับความไม่เป็นธรรมดังกล่าว ด้วยคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสร้างพื้นที่ส่วนตัวเพื่อการทำงานอย่างมีสมาธิและมีประสิทธิภาพ
- กำหนดช่วงเวลาส่วนตัวลงไปในตารางงาน
กำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าเวลาไหนที่คุณจะทำงานในพื้นที่ส่วนตัว และจงใช้เวลานี้ไปกับงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ต้องการคุณภาพและความถูกต้อง - สร้างพื้นที่ทำงานส่วนตัวที่เงียบสงบและเหมาะกับการทำงาน
ซึ่งหมายความว่ามันจึงควรเป็นห้องที่มีประตูป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก - บอกให้เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิทหรือแม้แต่คนในครอบครัวให้ชัดเจนว่าเวลาไหนสามารถรบกวนได้
อธิบายกับพวกเขาให้จัดเจนว่าคุณต้องการสมาธิในการทำงาน แต่ก็อย่าเคร่งมากจนไม่มีเวลาให้กับพวกเขาเหล่านั้นล่ะ - ใช้แอพพลิเคชั่นหรือฟังก์ชั่นป้องกันการรบกวนจากสายโทรเข้าข้อความและอีเมล
- ทำจิตใจให้สงบและปลอดโปร่งเวลาเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัว
Source : Success