ทำอย่างไรไม่ให้ “คำวิจารณ์” มาทำลายความมั่นใจของคุณ?

3685

บางครั้งคำวิจารณ์อาจเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ ไม่ว่าจะพูดออกมาอย่างสุภาพและไม่มีเจตนาว่าร้ายก็ตามที แต่การไปยึดติดกับมันก็ไม่ส่งผลดีกับความมั่นใจของคุณเลยเช่นกัน

ไม่ว่าคุณจะได้รับคำชมเชยมากเท่าไหร่ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ คำวิพากษ์วิจารณ์เพียงคำเดียวก็ทำให้คุณเก็บไปคิดซ้ำๆ จนความมั่นใจลดลงได้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเราทุกคน มีคนเป็นสิบบอกว่าพวกเขาชื่นชมผลงานของเรา แต่อาจมีเพียงงานเดียวที่ถูกวิจารณ์รุนแรงจนตามหลอกหลอนคุณถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะมืออาชีพ เราคงทราบกันดีแล้วว่าเราควรตอบรับคำวิจารณ์และนำไปปรับใช้เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ แต่มีอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการรับมือกับคำวิจารณ์ ซึ่งก็คือ การใช้มันเป็นตัวช่วย โดยไม่ให้มาทำลายความมั่นใจไปเสียหมด  

ฟังดูเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมล่ะ? แต่จริงๆ มันเป็นไปได้ หากคุณนำคำแนะนำ 5 ข้อนี้ไปใช้ การถูกวิจารณ์จะกลับกลายเป็นผลดีได้โดยไม่ทำร้ายความรู้สึกของคุณอีกต่อไป

1. อย่าด่วนสรุป

คำวิจารณ์ด้านลบมักจะฟังดูรุนแรง อย่างไรก็ตาม คุณควรจะมองให้เห็นถึงความหวังดีและความบริสุทธิ์ใจที่อยู่เบื้องหลังคำวิจารณ์เหล่านั้นด้วย คนส่วนมากไม่ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้คุณรู้สึกแย่ ในทางกลับกันพวกเขาหวังอยากให้คุณสำเร็จต่างหาก จึงพยายามชี้แนะให้คุณพัฒนา

ดังนั้น ให้คุณคิดบวกเข้าไว้ เลี่ยงการมองคำวิจารณ์เป็นการดูถูก เพราะโดยมากผู้วิจารณ์เองก็ไม่ได้หมายความแบบนั้นเลย

2. ตระหนักว่าไม่มีใครสมบูรณ์เพียบพร้อม

ในโลกแห่งความฝัน ทุกความคิดและผลงานของคุณคงจะได้รับเสียงปรบมือและการเชิดชูจากผู้คนนับไม่ถ้วน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องยากที่คุณจะพบใครสักคนที่ไม่เคยได้รับคำวิจารณ์อย่างรุนแรงเลย นั่นเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ และถึงที่สุดแล้ว คำวิจารณ์ก็เป็นสิ่งดีนะ เพราะมันทำให้คุณโตขึ้นและพัฒนาจนเป็นมืออาชีพได้

เวลาได้รับคำวิจารณ์ อย่าไปจมอยู่กับความรู้สึกไร้ค่าหรือไร้ความสามารถเลย จงจำไว้เสมอว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์เพียบพร้อม

3. ให้ความสำคัญกับเนื้อหาของคำวิจารณ์

เวลาที่ใครวิจารณ์คุณ คุณมักจะไปให้ความสำคัญกับบริบทสถานการณ์ตอนนั้นมากกว่า โดยเรามักตั้งคำถามว่า ทำไมเขาถึงว่าเราต่อหน้าที่ประชุมแบบนี้? เขาอยากให้เราดูแย่ต่อหน้าผู้จัดการ? หรือเขาอยากจะมาแย่งงานเราไหมนะ?

แต่ถ้าหากคุณอยากจะได้ประโยชน์จากคำวิจารณ์ให้มากที่สุด (แทนที่จะคิดมากกับมัน) ทางที่ดีคุณต้องเลิกคิดแบบนั้นเพื่อหันมาให้ความสำคัญกับเนื้อความ  อะไรคือใจความของคำวิจารณ์ที่เราได้รับ?

หากคุณหลีกเลี่ยงการคิดมากกับคำวิจารณ์ได้ คุณจะเข้าถึงประเด็นปัญหาที่แท้จริง และนำคำวิจารณ์มาปรับใช้แก้ปัญหาได้

4. มองอีกมุม

การยอมรับคำวิจารณ์ที่ดีนั้นไม่ใช่การเออออห่อหมกแล้วกลับใช้ชีวิตต่อไปตามเดิมหรอกนะ เพราะมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย คุณไม่ควรที่จะกลัวหรือเดินหนีมัน คุณควรจะเข้าหามัน หรือ ถามให้ชัดเจนไปเลย การทำแบบนี้จะทำให้คุณรู้ว่าคุณต้องพัฒนาส่วนไหน

นอกจากนี้การถามยังมีประโยชน์อย่างอื่นด้วย มันจะทำให้คุณมองผู้วิจารณ์คุณเปลี่ยนไป แทนที่คุณจะมองเขาเป็นคนที่จ้องทำร้ายคุณโดยการทำลายความมั่นใจ คุณจะมองว่าเขาเป็นคนที่ช่วยชี้แนะอธิบายรายละเอียดทีควรแก้ไขในการพัฒนาตัวคุณเอง ซึ่งการที่คุณไม่มองว่ามีแต่คนมุ่งร้ายนั้น เป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจที่ดีทีเดียวล่ะ

5. เรียนรู้จากมัน

คุณรู้ดีอยู่แล้วว่าคำวิจารณ์มีไว้ให้คุณพัฒนา แต่ก็ต่อเมื่อคุณนำเอาไปใช้ และเรียนรู้จากมันเท่านั้น ดังนั้น ให้คุณจดบันทึกบทเรียนเหล่านี้เอาไว้ให้ดี แล้วนำไปปรับใช้ต่อโดยเร็ว เพราะคงไม่มีใครอยากให้คำวิจารณ์เดิมซ้ำๆ นักหรอก

ไม่เพียงแค่มันจะทำให้งานปัจจุบันคุณออกมาดีขึ้นเท่านั้น แต่มันกลับช่วยเรื่องงานในอนาคตคุณด้วย เพราะเมื่อคุณมีความรู้ทักษะความสามารถเพิ่มขึ้น ความมั่นใจก็จะเพิ่มตามไปด้วยยังไงล่ะ

และแน่นอนว่า คำวิจารณ์ด้านลบอาจจะทำร้ายจิตใจคุณ แต่การปล่อยให้มันดึงคุณลงจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลย ดังนั้น ให้คุณลองนำ 5 ข้อนี้ไปปรับใช้ แล้วคุณจะรับมือกับมันได้เก่งขึ้น โดยที่คุณยังมั่นใจในตัวเองเช่นเดิม

Source: Inc