วันแรกหรือสัปดาห์แรกๆ ของการทำงานอาจดูน่ากลัว เพราะคุณจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ทั้งในด้าน ธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อนร่วมงาน หน้าที่รับผิดชอบ และขั้นตอนการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม เป็นที่แน่นอนอยู่แล้ว ว่าทุกคนคงอยากสร้างความประทับใจแรกพบที่ดีให้แก่หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และ ลูกน้อง แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ คนที่พยายามมากเกินไปจนเกิดผลเสีย เรามีวิธีสร้างความประทับใจดีๆ มานำเสนอ โดยทั้ง 3 วิธีนี้จะช่วยให้คุณพิสูจน์ทักษะการทำงานของตนเอง และสร้างผลงานในที่ทำงานใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
1. อย่าเพิ่งรีบแสดงความคิดเห็น
พนักงานใหม่ที่เอาแต่พูดถึงสิ่งที่ตนเองไม่พอใจและอยากให้แก้ไขตั้งแต่วันแรกๆ ของการทำงานนั้นคงเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดใจไม่น้อยสำหรับผู้ร่วมงาน จริงอยู่ที่พนักงานใหม่ป้ายแดงอย่างคุณมักจะกระตือรือร้นอยากแสดงศักยภาพในการทำงาน และแสดงความคิดเห็นออกมาให้เต็มที่ แม้นั่นจะเป็นสิ่งบริษัทต้องการจากคุณ แต่การรีบแสดงความคิดเห็นก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ทางที่ดีคุณควรรับฟังเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจระบบการทำงานในองค์กรใหม่ให้ดีเสียก่อน เพราะการที่องค์กรเดิมของคุณมีระบบการทำงานที่แตกต่างออกไป ไม่ได้แปลว่าระบบการทำงานแบบนั้นจะได้ผลเหมือนเดิมเมื่อนำมาใช้กับอีกองค์กรหนึ่ง
2. ระงับแผนของคุณไว้ก่อน
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คุณไม่ควรรีบนำแผนการต่างๆ มาเสนอว่าต้องการจะเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างไรตั้งแต่แรกเข้าทำงาน ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์หนึ่ง มีหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีคนหนึ่งย้ายไปทำงานในองค์กรใหม่ และในเวลาไม่กี่วันเขาก็เริ่มรื้อถอนระบบการทำงานของลูกทีมที่มีอยู่แต่เดิม เพราะประสบการณ์ทำงานเดิมทำให้เขาเชื่อว่าตนเองรู้ดีว่าองค์การต้องการอะไร ดังนั้นเขาจึงละทิ้ง และไม่สนใจระบบเดิมเลยแม้แต่น้อย แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ก็เป็นที่กระจ่างชัดว่าเขาไม่เข้าใจกระบวนการทำงานขององค์กรนั้นเลย เขาพยายามมากเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตนเอง แต่นั่นกลับทำให้เขาต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือไป ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเขาจะเคยสร้างผลงานมามากมาย และมีทักษะในการเป็นผู้นำที่ดี แผนการที่เขาคิดไว้กลับไม่ได้ทำให้เกิดผลดีตามที่คาดหวัง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงกลายเป็นผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพในสายตาของคนอื่น จนต้องย้ายออกไปในที่สุด
หากคุณคิดอยากปรับเปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ แทนที่คุณจะก้าวเข้าไปพร้อมกับแผนการที่วางไว้แล้ว คุณควรเปลี่ยนไปร่วมมือกับผู้ร่วมงานที่ทำงานมาก่อนหน้าคุณ อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในทันที แม้จะเห็นได้ชัดว่าองค์การกำลังมีปัญหาก็ตาม แต่ให้ค่อยๆ อาศัยการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างพนักงาน เพื่อให้ผลการทำงานเป็นไปตามความต้องการขององค์กรให้ได้มากที่สุด จากนั้นคุณจึงจะสามารถแนะนำเพิ่มเติมได้ ว่าควรเพิ่มเติมตรงไหน และควรเก็บรักษาอะไรไว้บ้าง เพื่อสร้างความไว้วางใจกับทีมงาน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรให้ดีขึ้น
3. ปรับตัวให้เข้ากับธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรใหม่
ธรรมเนียมการปฏิบัติตนของคนในองค์กรใหม่อาจแตกต่างจากองค์กรเดิม ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์แรกๆของการทำงาน คุณควรสังเกตและเก็บรายละเอียวิธีการแสดงออกในสังคมของผู้ร่วมงาน รวมถึงบรรยากาศของออฟฟิศโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น ในบางองค์กรที่พนักงานทำงานด้วยกันมานานหลายปี พวกเขาจะรู้จักมักคุ้นกันดี จึงอาศัยวิธีการอภิปรายหารือกันในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง อย่างไรก็ตาม ในองค์กรอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการกระทำและผลงานมากกว่า การอภิปรายที่ยาวนานมักถูกมองว่าเป็นการเสียเวลา
เวลาไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น คุณคงไม่สวมรองเท้าเข้าบ้านหรอกใช่ไหม? คุณลองเปรียบการก้าวเข้ามาในองค์กรใหม่ ให้เหมือนกับการเดินทางไปต่างประเทศดูสิ ผู้คนต่างมีวัฒนธรรมปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อคุณได้ก้าวเท้าเข้ามาในองค์กรใหม่แล้ว คุณก็ควรถือสุภาษิตที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” แล้วคุณถึงจะประสบความสำเร็จ
จากทั้งสามข้อที่กล่าวมานี้ สรุปได้ว่า หากคุณเริ่มต้นทำงานใหม่ด้วยความถ่อมตัว คุณจะไม่เพียงแต่สร้างความประทับใจแรกพบที่ดีเยี่ยมแก่ผู้ร่วมงานเท่านั้น แต่คุณจะสามารถสร้างผลงานที่ดีตามความคาดหวังได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
Source : Weforum