4 เทคนิค พัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของคุณ

3045

ถ้าคุณต้องการประสบความสำเร็จในด้านวิชาการ ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจก่อนว่า ความรู้พื้นฐานที่ทำให้คุณเรียนได้ดี มีอยู่สองประเภท ดังนี้

  • ความรู้เกี่ยวกับวิชา หรือเทคนิคต่างๆ อย่างเช่น คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือการเขียนโปรแกรม
  • ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้

ระบบการศึกษาบ้านเรามักจะมองข้ามข้อสอง (ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้) ทำให้นักเรียนหลายคน ประสบปัญหายากต่อการจะประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ ซึ่งมันมีผลต่อความก้าวหน้าทางการงานด้วย เพราะความสามารถในการเรียนรู้นั้นถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต

“เหล่าพ่อแม่และคุณครูจะเก่งในการถ่ายทอดความรู้ประเภทแรกมากกว่า” แอนนี่ เมอร์ฟี่ พอล นักเขียนหนังสือแนวจิตวิทยา กล่าว “เราจะรู้สึกสบายใจมากกว่า ในการพูดถึงข้อมูลที่จับต้องได้ อย่าง ชื่อ วันที่ เลข ข้อเท็จจริงต่างๆ แต่น้อยคนนักที่จะสนใจในเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ ที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิง ‘รู้คิด’ (Metacognitive)

ผลจากงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาชี้ให้เห็นว่า นักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำนั้น “ขาดความเข้าใจในแก่นสาร” ของวิธีการทางความคิด ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งพอลได้กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่เด็กเรียนไม่เก่งเป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่ากระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นอย่างไร

ประเด็นดังกล่าวเป็นผลมาจากวัฒนธรรมด้วย เฮนรี่ โรดเจอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมาร์ค แมคเดเนียล ผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง Make It Stick: The Science of Successful Learning กล่าวไว้ว่า “วิธีการสอนและเรียนรู้ของมนุษย์เรา คือการผสมผสานระหว่างทฤษฎี ความรู้ที่ส่งทอดมา และการใช้สัญชาติญาณทำความเข้าใจ เข้าด้วยกัน”

เพราะเหตุนี้ เราจึงขอแนะนำวิธีใหม่ในการเรียนรู้ ที่จะทำให้คุณเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

1. ฝึกจดจำ

ส่วนที่ไม่สนุกที่สุดของการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ ความยากของมันนั่นเอง ซึ่งผู้เขียน “Make It Stick” ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มรู้สึกว่ามันยาก นั่นแปลว่าคุณกำลังเรียนรู้อย่างสุดความสามารถแล้ว เช่นเดียวกับการยกน้ำหนักให้สุดขีดจำกัดของตัวเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อร่างกายมากที่สุด

แม้วิธีนี้จะไม่ง่าย แต่ก็ไม่ซับซ้อนเช่นกัน คุณต้องฝึกฝนการจดจำด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้บัตรคำศัพท์(Flashcard) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่เยี่ยมมาก เพราะมันจะผลักดันให้คุณต้องตอบคำถามให้ได้

2. อย่าชะล่าใจกับความคล่องแคล่ว

เวลาที่คุณรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ หรืออ่านอยู่นั้นเป็นเรื่องง่าย มันอาจจะทำให้คุณชะล่าใจ

ตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณกำลังรอเที่ยวบินไปเชียงใหม่ และพยายามจำว่าต้องออกจากประตูไหน  เมื่อเห็นว่าเป็นหมายเลข B44 จากจอแสดงเวลาเที่ยวบิน คุณก็อาจจะคิดว่า อ๋อ แค่นี้เอง จำง่ายจะตาย แต่พอเดินไปสักพัก เล่นมือถือเพลินๆ คุณก็อาจจะลืมซะแล้วว่าจะต้องไปที่ประตูไหน

3. เชื่อมโยงสิ่งใหม่เข้ากับสิ่งเดิมที่มีอยู่

ในหนังสือ “Make It Stick” ได้กล่าวว่า “ยิ่งคุณอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ใหม่กับความรู้เดิมได้มากเท่าไหร่ ความรู้ใหม่นั้นก็จะยิ่งฝังลึกลง ทำให้คุณสามารถจดจำความรู้ใหม่ได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ” ซึ่งการเชื่อมโยงความรู้เดิม กับความรู้ใหม่เข้าด้วยกันนั้น ก็คล้ายกับการที่คุณทำความเข้าใจ เรียบเรียงองค์ความรู้เหล่านี้อย่างละเอียดอีกครั้ง

อีกหนึ่งเทคนิคไม้ตายก็คือ การยกตัวอย่างจากสถานการณ์จริงมาประกอบกับหลักการที่คุณเพิ่งค้นพบมา เช่น ถ้าคุณเพิ่งไปสัมมนาเกี่ยวกับการตลาดมา ก็ให้เรียบนำความรู้ที่เรียนมานั้น มาประยุกต์ใช้กับบริษัทของตัวเอง หรือถ้าเพิ่งเรียนเรื่องการถ่ายเทความร้อนมา ก็ลองคิดว่าแก้วกาแฟอุ่น ๆ ทำให้มืออันแสนเย็นของคุณอุ่นขึ้นได้อย่างไร?

4. การสะท้อนความคิด (คิดทบทวน)

การคิดทบทวนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งของวิทยาลัยธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาโดยให้กลุ่มลูกจ้างจากบริษัทคอลเซ็นเตอร์แห่งหนึ่งทำการคิดทบทวนสิ่งที่ได้ทำมาตลอดวัน เป็นเวลาทั้งหมด 15 นาที หลังจากเลิกงาน ผลสรุปพบว่าพวกเขามีศักยภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น กว่ากลุ่มลูกจ้างที่ไม่ได้ทำถึง 22.8 %

“การมีโอกาสได้สะท้อนความคิดทำให้เรามั่นใจในความสามารถของตัวเองมากขึ้น” ฟรานเซสกา จีโน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ดกล่าว “ถ้าเรามั่นใจมากขึ้นว่าจะประสบความสำเร็จได้ จะทำให้เรามีความพยายามกับสิ่งที่ทำและเรียนรู้มากขึ้นตามไปด้วย”

แม้ว่าการใช้เวลาเพื่อทบทวนความคิด อาจทำให้เสียเวลาทำงานไปก็จริง แต่มันก็เป็นวิธีที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น

 

Source : Business Insider