
โดยมากแล้วคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) มักจะมีนิสัย “ผัดวันประกันพรุ่ง” ติดตัวมาด้วย บางคนชอบดองงานไว้จนถึงวินาทีสุดท้ายถึงเริ่มทำ จากนั้นก็บ่นว่ามีเวลาทำงานน้อยเกินไป เขาเหล่านี้แหละที่ถนัดนักในการสรรหาข้ออ้างสารพัดที่ทำให้ตัวเองทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
การผัดวันประกันพรุ่งที่ว่านี้ยังมีอีกหลายกรณี สำหรับบางคน สาเหตุของพฤติกรรมนี้คือ ความรู้สึกกดดัน และเหนื่อยล้า โดยบอกกับตัวเองว่านี่เป็นเวลาพักผ่อนเพื่อสะสมพลังงานไว้ทำงานให้ได้อย่างเต็มที่ แต่แท้จริงแล้วมันต่างกับการพักผ่อนโดยสิ้นเชิง เพราะการผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ช่วยประหยัดเวลา หรือพลังงานในการทำงานเลย แต่กลับทำให้คุณสูญเสียทั้งสองอย่างไปโดยเปล่าประโยชน์ หลงเหลือไว้แต่เพียงความสับสนและการหลอกลวงตัวเอง
เราทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่มากมายในชีวิต เราต้องไปพบเจอกับคนมากมาย มีอีเมลที่ต้องตอบ และมีโปรเจ็คที่กองเป็นภูเขา เฮนรี่ นูเวน (Henri Nouwen) นักบวชคาทอลิกชาวดัตช์ ผู้เขียนหนังสือ Making All Things New กล่าวว่า “ชีวิตคนเราทุกวันนี้ก็เหมือนกับ กระเป๋าเดินทางที่ถูกยัดของเข้าไปจนแน่นขนัด และพร้อมจะระเบิดออกทุกเมื่อ”
คนที่พยายามทำเป้าหมายใหญ่ๆ ให้ลุล่วงในคราวเดียวมักจะต้องประสบความล้มเหลว มันก็เหมือนกับการที่เราสำลักเพราะพยายามกลืนสเต็กชิ้นโตเข้าปากจนหมดนั่นแหละ เราจึงควรจะตัดสเต็กเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนแล้วจึงค่อยๆ เคี้ยวทีละคำต่างหาก
การเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน การบรรลุเป้าหมายในเชิงรุก (Proactive goal achievement) คือ การแบ่งงานออกเป็นหลายส่วน ให้กลายเป็นเป้าหมายเล็กๆ รายทาง ที่จะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ ด้วยวิธีนี้ เป้าหมายใหญ่ที่เราตั้งไว้จึงดูไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เมื่อเกิดปัญหาในงานส่วนเล็กๆ ก็ย่อมแก้ได้ง่ายกว่า อีกทั้งทุกครั้งที่เราทำงานเล็กๆ สำเร็จ เราก็จะมีกำลังใจในการทำงานส่วนต่อไปเรื่อยๆ อีกด้วย
ดังนั้น คุณควรเริ่มลงมือเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ และต้องทำให้ถูกวิธีด้วย กับ 9 วิธีที่จะช่วยคุณบอกลานิสัยผัดวันประกันพรุ่งและคิดในเชิงรุกให้มากขึ้น! ไปชมกัน
1. ตั้งนาฬิกาปลุกให้เช้ากว่าเดิม 30 นาที
เพื่อให้คุณได้มีเวลาคิดและวางแผนว่าจะทำอะไรให้วันนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. ท่องให้ขึ้นใจว่า “คุณต้องลงมือทำวันนี้ อย่ารีรอ”
จัดการกับอีเมลล์แต่ละฉบับเพียงครั้งเดียวก็พอ ไม่ต้องคิดมาก และให้จัดสรรเวลาในการตอบอีเมล เช่น ในตอนเช้า หรือตอนท้ายของวัน นอกจากนี้ยังควรกำหนดเวลาที่แน่นอนในการคุยโทรศัพท์ พบปะผู้คน และเคลียร์งานสำคัญด้วย
3. เมื่อมีคนมาปรึกษาปัญหา ควรให้ข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การแก้ปัญหา
แทนที่คุณจะพยายามแก้ไขปัญหานั้นราวกับเป็นปัญหาของตนเอง ให้คุณถามเขาว่าจะทำอย่างไรต่อไป และอยากได้ผลลัพธ์แบบไหน จากนั้นจึงให้ข้อเสนอแนะแก่เขา
4. จัดการทำสิ่งที่ยังค้างอยู่ให้ลุล่วงให้ได้
รวบรวมพลังกายและสมาธิทั้งหมดเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายตรงหน้าให้เสร็จโดยไม่ให้สิ่งใดมารบกวน
5. ติเพื่อก่อ ไม่ใช่ติแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
การติผู้อื่นหรือติสิ่งต่างๆ รอบตัว ควรก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเราและอีกฝ่ายด้วย ไม่ใช่ทำแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จงเลือกชื่นชมสิ่งดีๆ ไม่ใช่มัวแต่มานั่งจับกลุ่มติฉินนินทากัน แค่นี้คุณก็จะมีเวลาทำอะไรต่างๆ มากขึ้นแล้วล่ะ
6. ลิสต์งานสำคัญๆ ที่คุณไม่อยากทำ พร้อมวันและเวลาที่ต้องส่ง
การรีบทำงานที่น่าเบื่อให้เสร็จก่อนจะช่วยลดความเครียดและความกดดันลง เพราะถ้าต้องมาเริ่มทำงานเหล่านี้ในตอนใกล้ส่งคุณคงจะเครียดเข้าไปใหญ่ และทำให้งานสำเร็จยากขึ้นด้วย
7. พูดคุยกับคนประสบความสำเร็จที่เป็นต้นแบบของคุณ
การเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้อื่นจะช่วยพัฒนาการทำงานของเราได้ ตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้เข้าใจในวิธีการทำงานเจ๋งๆ ของผู้คนเหล่านั้น
8. เข้าใจไว้ว่าความกลัวเป็นเพียงสิ่งลวงตา และความโชคดีเป็นผลของการรู้จักใช้ความรู้ในการทำงานอย่างเหมาะสม
ยิ่งคุณมีความรู้ในเรื่องที่ทำมากเท่าไหร่ คุณก็จะผัดวันประกันพรุ่งน้อยลง
9. ยอมรับว่าปัญหาและการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและโลกธุรกิจอาจทำให้คุณเครียด นอกเสียจากว่าคุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา และพยายามมองมันในด้านบวกว่า มันอาจทำให้คุณพัฒนาและได้รับโอกาสใหม่ๆ แทนที่จะมานั่งทนทุกข์
การตัดสินใจสำหรับอนาคตนั้นไม่มีจริงหรอก จะมีก็แต่การตัดสินใจในปัจจุบันที่จะส่งผลถึงอนาคตก็เท่านั้น ผู้ที่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งมักไม่กล้าตัดสินใจเพราะมัวแต่รอคอยเวลาที่เหมาะเจาะ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็จะไปไม่ถึงไหนเสียทีน่ะสิ ดังนั้นจงก้าวออกมาจาก comfort zone ของคุณ เลิกผัดวันประกันพรุ่ง แล้วเปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายในเชิงรุกกันเถอะ จงจำไว้ว่าการจะประสบความสำเร็จได้นั้น คุณต้อง “หยุดดองงาน แล้วเริ่มลงมือตั้งแต่ตอนนี้เลย!”
ที่มา : Success