8 นิสัยน่ารำคาญในวงสนทนา ที่คุณอาจมีก็เป็นได้

11091

คุณพูดมากเวลาคุยกับคนอื่นหรือเปล่า? หรือบางทีก็ไปขัดจังหวะคนอื่น เผลอพูดเกทับ ไม่ก็ก้มลงไปมองโทรศัพท์มือถือแทบจะทุกๆ สามวินาที เราทุกคนล้วนมีนิสัยแย่ๆ ในการสนทนาอยู่อย่างน้อยหนึ่งอย่าง

โดยจากการสัมภาษณ์สมาชิกกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Enterpreneur Council: YEC) เกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่ารำคาญที่สุดของผู้ประกอบการและนักธุรกิจหน้าใหม่ไฟแรงในวงสนทนา  มาดูกันว่าคุณจะมีหนึ่งในนิสัยเสียแบบนี้หรือเปล่า ถ้ามีล่ะก็ จงหยุดซะก่อนจะสายเกินแก้

 

1. พูดน้ำไหลไฟดับ

หลายคนมักจะชอบพูดออกทะเลไปเรื่อยแทนที่จะตอบให้ตรงคำถาม ทำให้ผู้คนเบื่อและไม่อยากให้ความสำคัญกับคุณได้ ดังนั้น มีวิธีแก้ง่ายๆ ก็คือ พูดเพียงแค่ 20% จากทั้งหมดที่เราอยากจะพูดจริงๆ ก็พอ เพราะการให้ข้อมูลมากไปมักทำให้เกิดคำถามตามมาไม่จบสิ้น ดังนั้นจงพยายามพูดให้กระชับและตรงประเด็นมากที่สุด

2. ชอบคุยโวโอ้อวด

เชื่อหรือเปล่าว่าการถ่อมเนื้อถ่อมตัวเป็นสิ่งหนึ่งที่นำมาซึ่งความสำเร็จ จงปล่อยให้ผลงานของคุณพูดเองดีกว่า ถ้าคุณดีจริงล่ะก็ คนอื่นจะเอาคุณไปอวดชื่นชมให้ใครๆ ฟังแทน ดังนั้น อย่าเอาแต่พูดยกยอปอปั้นตัวเอง หัดทำความรู้จักผู้อื่นด้วยการไถ่ถามและหาสิ่งที่ชอบเหมือนกันดีกว่า

3. พูดว่า ‘ฉันรู้สึกว่า’

คุณสามารถเล่าลางสังหรณ์ที่ตัวเองรู้สึกให้คนอื่นฟังได้ตลอดไม่มีสิ้นสุด  แต่การทึกทักว่าความรู้สึกของคุณถูกกว่าความคิดคนอื่นนี่แหละคือปัญหา ไม่เพียงแค่จะน่ารำคาญเท่านั้น แต่มันเป็นการสร้างความน่ารำคาญในการทำงานกับเพื่อนร่วมงานได้ด้วย

4. เป็นนักสื่อสารที่แย่

ถ้าหากคุณเป็นคนที่ไม่สามารถพูดให้คนอื่นสนใจเข้าใจคุณได้เลย หรือขาดความรู้ในงานของตัวเองล่ะก็ มันจะฉุดความน่าเชื่อถือในการทำงานของคุณลงมาทันที การสื่อสารที่ไม่ดีนั้นเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคุณไม่มีความพยายามหรือความเตรียมพร้อมใดๆ เลย ดังนั้น ก่อนจะสื่อสารกับใครคุณจึงต้องทำการบ้านมาก่อนเสมอ เพื่อทำให้ตัวเองเป็นที่น่าจับตามอง และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

5. ใช้ศัพท์แสลง

ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากับลูกค้า ผู้ใช้บริการ นักลงทุน หรือใครก็ตาม คงไม่มีใครอยากรู้สึกว่าไม่เข้าใจสารที่คุณต้องการจะสื่อเพราะคุณเอาใช้แต่ศัพท์แสงหรือคำย่อที่ผู้ฟังไม่รู้จัก ซึ่งนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักการเมืองจึงมักพูดจาให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพราะพวกเขาต้องการให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ผู้คนจะได้ให้การสนับสนุนนโยบายของพวกเขานั่นเอง

6. ชอบขัดจังหวะคนอื่น

บางครั้งความคิดเราอาจไปไวกว่าคนทั่วไปมาก เราจึงมักจะแทรกบทสนทนาของผู้อื่นเพราะคิดว่านี่คือสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะพูด ไม่ก็คิดเลยไปเรื่องอื่นแล้ว ดังนั้น เราจึงควรหัดลดความเร็วลงบ้าง หยุดตั้งสติสักนิด แล้วตั้งใจฟังผู้พูดให้ดี การคิดเร็วนั้นมีประโยชน์หลายๆ สถานการณ์ แต่การฟังสิ่งที่คนอื่นพูดเองก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย

7. เปิดดูโทรศัพท์ระหว่างพูดคุย

ในระหว่างการสนทนาคุณควรจะเก็บโทรศัพท์ไว้ก่อน  ไม่โทร แชท หรือเปิดดูนั่นนี่ เพราะมันแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าคุณไม่ได้ใส่ใจบทสนทนาเลย และถ้าหัวข้อสนทนามัน ไม่น่าสนใจขนาดนั้น ก็ควรจะเปลี่ยนเรื่องคุยกันดีกว่านะ

8. เปิดประเด็นพูดคุยด้วยคำถามสุ่มๆ

การเริ่มบทสนทนาด้วยคำถามสุ่มอย่างที่คนส่วนใหญ่มักทำกันนั้น อาจเป็นการกันให้ผู้ฟังบางส่วนออกจากวงสนทนาได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณถามว่า “เคยไปที่……..หรือเปล่า” และถ้ามีคนตอบว่า “ไม่เคย” คุณจะเสียผู้ฟังคนนั้นไปทันที การถามคำถามสุ่มจึงไม่ใช่วิธีที่ดีนักในการกระชับมิตรภาพกับผู้คนได้

 

Source: Success