หากคุณเคยรู้สึกกลัวถูกมองว่าไร้ความสามารถในการทำงานล่ะก็ เราคือเพื่อนกัน จากผลการค้นคว้า โดยกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย The University of Salzburg พบว่าร้อยละ 70 ของผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าตนเป็นพนักงานที่ไม่เก่งจริง ซึ่งนักวิจัยสรุปผลตรงนี้ว่า การลดคุณค่าตนเอง อาจส่งผลให้คนเราทำลายอาชีพการงานของตนเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งยังกระทบต่อเพื่อนร่วมงานอีกด้วย ลองมาดู 8 วิธีการที่จะช่วยให้คุณแสร้งทำจนคุณทำได้จริงๆ กันดีกว่า
1. อย่าลืมสิ่งที่ตนเคยทำสำเร็จ
ปีเตอร์ แชงค์แมน (Peter Shankman) ประธานบริหารบริษัท Shankminds Business Masterminds เสริมสร้างกำลังใจตนเองโดยการฉายภาพความสำเร็จครั้งก่อนๆ ในใจซ้ำๆ เขากล่าว่า “บางครั้งผมจะเปิดวิดีโอ เพื่อดูการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งเก่าของผม ผู้ฟังหัวเราะ อย่างสนุกสนานเลยล่ะ มันทำให้ผมมั่นใจว่า ถ้าผมกล่าวสุนทรพจน์นั้นออกมาได้เยี่ยมขนาดนี้ล่ะก็ ผมก็จะทำมันได้อีกแน่นอน”
2. ปลดปล่อยหยาดเหงื่อออกมา
หากเขารู้สึกผิดหวังในตนเอง แชงค์แมนจะตื่นนอนแต่เช้า และกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน โดยการยกน้ำหนัก หรือเล่นคาร์ดิโอ “ในตอนนั้นเหมือนร่างกายมันบอกผมว่า เอาล่ะ มาลองกันสักตั้งเถอะ” เขายังบอกอีกว่านี่เป็นเหตุผลให้เขาออกกำลังกายก่อนจะมีการนำเสนองาน หรือการประชุมสำคัญ ๆ ด้วย
3. อยู่ท่ามกลางผู้คนที่เชื่อมั่นในตัวคุณ
จอยซ์ มาโรนี (Joyce Maroney) ผู้อำนวยการ Workforce Institute at Kronos ก็ได้ทำแบบเดียวกัน โดยการลาออกจางานอันแสนสบายที่ IBM เพื่อมาเข้าร่วมกับธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นสิ่งที่เธอไม่เคยทำมาก่อน “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่เคยคัดเลือกฉันเข้าทำงานในอดีต บอกว่าเธอเชื่อมั่นว่าฉันจะทำได้ การได้รับความเชื่อมั่นจากเธอนั้นมีความหมายกับฉันมาก และตัวฉันเองก็โชคดีมากอีกเช่นกัน ที่ทุกวันนี้ได้ทำงานร่วมกับประธานผู้บริหารที่เชื่อมั่นในคุณค่าต่างๆ เหมือนกัน”
4. พูดมันออกมา
ในตอนที่นักพูด ไมค์ เวนี่ (Mike Veny) ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์สำคัญเป็นครั้งแรกในงานสัมนาของรัฐ เขาท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกมากมายเมื่อเห็นใบหน้าของตัวเองบนป้าย และแผ่นพับของงาน ซึ่งเขาไว้ใจในบรรดาเพื่อนสนิทให้เป็นที่ปรึกษาเวลารู้สึกกังวล เขากล่าวว่า “จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ของผม ความข้องใจในตนเองเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ระหว่างการทำงาน มันคือสิ่งที่ช่วยให้คุณรู้จักถ่อมตน และกระหายที่จะเก่งขึ้นไปอีกไม่ว่าคุณจะทำอะไร”
5. มองภาพรวม
เมื่อเขาเริ่มคิดลังเล เวนี่จะมุ่งความสนใจไปที่เหตุผลว่าทำไมเขาถึงทำสิ่งที่เขาทำอยู่ ซึ่งจะช่วยให้จิตใจเกิดการตระหนักรู้ เขากล่าวว่า “จุดมุ่งหมายในชีวิตของผม คือ การผลักดันให้ผู้คนสื่อสารถึงกัน และผมซาบซึ้งมากที่ได้รับโอกาสให้ทำเช่นนั้นอยู่เรื่อยๆ ”
6. ตอกย้ำคุณค่าของผู้อื่น
เดเร็ค โดพเคอร์ (Derek Doepker) ผู้เขียนหนังสือ Why You’re Stuck กล่าวว่า ตอนที่เริ่มอาชีพนักเขียนใหม่ๆ เขารู้สึกราวกับเป็นแค่คนที่แกล้งทำเป็นนักเขียน และเอาแต่ถามตนเองว่า ฉันเป็นใครถึงคิดจะเขียนหนังสือ? แล้วทำไมคนถึงอยากจะฟังเรื่องราวจากฉันล่ะ? และคำแนะนำจากเขาในฐานะที่ผ่านจุดนั้นมาแล้วก็คือ คุณต้องหาบุคคลต้นแบบของตัวเอง เขาเองก็ได้เจอทั้งเหล่านักเขียน นักพอดแคสต์ บล็อกเกอร์ ที่มีความคล้ายคลึงกันกับเขา “จงบอกให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวคุณไปบ้าง การชื่นชมผู้อื่นอย่างจริงใจ และให้คุณค่าแก่คน ๆ นั้น ทำให้คุณได้รับในสิ่งเดียวกันกลับคืนมาเช่นกัน”
7. ทำในสิ่งที่คุณรัก
บ่อยครั้ง การก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยทำให้กังวลเกี่ยวกับสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไม ดร.เกย์ เฮนดริกส์ (Gay Hendricks) ประธาน The Hendricks Institute แนะนำว่าเราควรจะมุ่งความสนใจไปที่กิจกรรมที่เสริมสร้าง “Zone of Genius” ของคุณ หรือ พื้นที่ที่กระตุ้นให้คุณได้ตั้งใจแสดงความสามารถออกมาอย่างเต็มที่ ในหนังสือ The Big Leap เขาได้อธิบายไว้ว่า “การได้ทำในสิ่งที่รักจะสะท้อน ความสามารถเฉพาะด้านของคุณออกมา เมื่อคุณได้ทำในสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง คุณก็จะไม่ข้องใจในตัวเอง”
8. อย่าให้ใครเห็นว่าคุณเหนื่อยสายตัวแทบขาด
จอยซ์ มาโรนี ได้เรียนรู้ว่า เธอควรจะสวมหน้ากากปกปิดความกังวลของเธอ ในเวลาที่ทุก ๆ สายตากำลังจับจ้องมาที่เธอ เพื่อที่จะสร้างวิสัยทัศน์และทีมงานที่ดี เธอมีสติควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้เป็นอย่างดี เพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าเธอควบคุมสถานการณ์ได้ เธอกล่าวว่า “ในเวลาที่ฉันแสดงออกถึงความมั่นใจ และความสงบในจิตใจ มันมักจะส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นเสมอ ฉันจะสูดหายใจเข้าลึกๆ ดึงตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น สักสองสามนาที ให้ใจสงบลง และย้ำกับตัวเองว่ามันจะต้องผ่านไปได้ดี”
Source : Success