
ทักษะการฟังที่ดี ก็เหมือนกับความฉลาด ที่หลายๆ คนมักคิดว่าตัวเองมีมากกว่าคนทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่ใช่เลย
ไม่ว่าใครก็อยากที่จะโดดเด่นในทักษะด้านนี้กันทั้งนั้น ซึ่งจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย George Washington แสดงให้เห็นว่า การฟังมีอิทธิพลต่อผลการทำงานของบรรดาผู้นำสูงถึง 40% เลยทีเดียว
“คำว่า listen (ฟัง) สะกดด้วยตัวอักษรเดียวกันกับ silent (ความเงียบ) ทุกประการ” –Alfred Brendel
ผู้คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าทักษะการฟังของพวกเขาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ในความเป็นจริงจะไม่ได้ใกล้เคียงเลยก็ตาม โดยการศึกษาของมหาวิทยาลัย Wright State ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้คนที่เชื่อว่าทักษะการฟังของตนเองดีกว่าคนทั่วไป กว่า 8,000 คน จากหลากหลายพื้นที่ และท้ายที่สุดก็พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนใหญ่นั้นคิดผิดไปโดยสิ้นเชิง
การฟังอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอะไรที่สามารถฝึกฝนให้เชี่ยวชาญได้ แม้ว่าบางครั้งคุณอาจคิดว่าการฟังอย่างตั้งใจเป็นเรื่องยาก แถมในบางเหตุการณ์ก็ยังน่าเบื่อหรือไม่น่าพิสมัยเอามากๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่สามารถทำได้ ขอเพียงแค่รู้ว่าจะต้องฟังอย่างไรให้ถูกวิธี ดังนี้
1. มีสมาธิ
ข้อผิดพลาดในการรับฟังของคนส่วนใหญ่คือ การที่พวกเขาใจจดใจจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองจะพูดต่อไป หรือไม่ก็กังวลกับผลจากสิ่งที่ผู้อื่นพูดต่อพวกเขามากจนเกินไป ทำให้พลาดการรับรู้สาส์นที่ผู้พูดส่งมาให้ในที่สุด แม้ว่าคำพูดนั้น จะเสียงดังฟังชัด แต่ความหมายของมันกลับเลือนหายไป จริงอยู่ว่าการมีสมาธิอาจเป็นคำแนะนำที่ฟังดูง่าย แต่ไม่เลยสักนิด ความคิดของคนเรามักถูกรบกวนได้อย่างง่ายดายเสมอ
2. งดการใช้โทรศัพท์
การจะฟังให้ได้ใจความ ในขณะที่สายตาก็ไล่ตามจอโทรศัพท์ไปด้วยเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่จะดึงความสนใจของคนไปได้มากเท่ากับข้อความที่เข้ามือถือหรือการชำเลืองมองโทรศัพท์อีกแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณกำลังอยู่ท่ามกลางวงสนทนา ขอแนะนำว่าให้มีสมาธิกับการพูดคุยจะดีกว่า แล้วคุณจะพบว่าการสนทนาครั้งนั้นทั้งเพลิดเพลินและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเคย
3. ถามคำถามที่ดี
คนเรามักอยากเจอกับผู้ฟังที่ดีเสมอ และการที่คุณตั้งคำถามขึ้นมา นอกจากจะเป็นการแสดงออกว่าคุณกำลังตั้งใจฟังในสิ่งที่อีกคนพูดแล้ว ยังทำให้เห็นถึงความใส่ใจในเรื่องที่เขาพูดอีกด้วย
เชื่อเถอะว่า หลังจากที่คุณได้ตั้งคำถามขึ้นมาในระหว่างการพูดคุย คุณจะได้รับความเคารพนับถือจากผู้พูดมากขึ้น และนอกจากจะถามเกี่ยวกับสิ่งที่เพิ่งพูดไปแล้ว การถามหาข้อมูลเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน อาจเป็นคำถามง่ายๆ เช่น “แล้วจากนั้นเป็นอย่างไรต่อ?” หรือไม่ก็ “ทำไมเขาจึงพูดเช่นนั้นเล่า?” ประเด็นคือ ควรดูให้แน่ใจว่าคำถามของคุณนั้นแสดงถึงความเข้าใจในเรื่องที่อีกฝ่ายพูด มากกว่าจะเป็นการเบี่ยงประเด็นไปในเรื่องอื่นๆ
4. ฝึกการฟังอย่างตั้งใจแล้วสะท้อนความหมายออกมา
นักจิตวิทยาชื่อ Carl Rogers ได้ใช้คำว่า “การฟังแบบสะท้อนความหมาย (Reflective Listening)” ในการอธิบายวิธีการฟังวิธีหนึ่ง ผู้ฟังสามารถทำได้ โดยการถอดความหมายของสิ่งที่ได้ยินเพื่อให้แน่ใจว่า ตัวเองเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง โดยการฟังแบบนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้ขยายความสิ่งที่ตนต้องการจะสื่อออกมาอีกด้วย ทั้งนี้ ในการฝึกฝนการฟังแบบสะท้อนความหมาย อย่าเอาแต่ทวนซ้ำคำพูดของอีกฝ่าย แต่ให้ลองใช้คำพูดของตนเองในการอธิบาย เพื่อแสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองเข้าใจด้วย
5. ใช้ภาษากายในเชิงบวก
การที่คอยตระหนักถึงการแสดงออกด้วยสีหน้าท่าทางหรือน้ำเสียงของตนเอง (พยายามควบคุมให้เป็นไปในเชิงบวก) จะทำให้ผู้คนรอบตัวรู้สึกอยากเข้าใกล้มากยิ่งขึ้น อาจทำได้โดยการใช้น้ำเสียงที่กระตือรือร้น ไม่กอดอก หันหน้าเข้าหาและสบสายตากับผู้พูด ดังเช่นที่ผู้ฟังที่ดีมักจะทำกัน ซึ่งการใช้ภาษากายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงอย่างแน่นอน
6. อย่าด่วนตัดสิน
ถ้าอยากจะเป็นผู้ฟังที่ดี สิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือการเปิดใจให้กว้าง ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกสนใจและอยากเข้าหาคุณมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าใครก็คงไม่อยากจะพูดคุยกับคนที่ชอบตัดสินอะไรๆ โดยไม่ยอมเปิดใจรับฟังคนอื่นหรอก โดยเฉพาะในที่ทำงาน การรู้จักเปิดใจเป็นอะไรที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการถูกเข้าถึงได้ง่าย ย่อมหมายถึงการค้นพบไอเดียใหม่ๆ หรือการได้รับความช่วยเหลือได้ดีกว่า
ในการที่จะกำจัดอคตินั้นออกไป คุณจะต้องรู้จักการมองโลกผ่านมุมมองของผู้อื่นดูบ้าง ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเชื่อเหมือนที่ใครอื่นเชื่อ ขอเพียงแค่ไม่ด่วนตัดสินใครจนกว่าจะแน่ใจว่าเข้าใจเขาจริงๆ ก็พอ
7. รูดซิปปากให้สนิท
ถ้าไม่ใช่การถามเพื่อให้แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้อง หรือว่าถามถึงข้อมูลเพิ่มเติมล่ะก็ ทางที่ดีควรเงียบไว้เสียจะดีกว่า เพราะการพูดขัด ยังแสดงให้เห็นถึงการที่คุณคิดว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังจะพูดนั้นสำคัญกว่าของใครอื่นอีกด้วย กล่าวคือ ไม่ควรแทรกบทสรุปของตัวเองให้กับปัญหาของผู้พูดนั่นเอง อันที่จริงก็เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเรามักอยากช่วยเหลือผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ที่ตนเป็นห่วงเป็นใย แต่หลายคนกลับไม่ได้ตระหนักเลยว่า การที่เราด่วนยัดเยียดคำปรึกษาให้กับใครอาจทำให้อีกฝ่ายหมดความมั่นใจที่จะพูดต่อไปก็ได้ ถ้าว่ากันตามตรง แม้จะทำไปด้วยเจตนาดี แต่การที่พูดขัดขึ้นมาด้วยคำปรึกษาใดๆ ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการพูดว่า “โอเค เข้าใจแล้ว ทีนี้หยุดพูดได้แล้ว” เลยสักนิด
“ความเงียบย่อมดีกว่าถ้อยคำอันไร้ประโยชน์” — พีทาโกรัส (Pythagoras)
สรุปแล้ว ชีวิตเป็นอะไรที่ยุ่งยากและวุ่นวายแถมยังเดินหน้าไปอย่างว่องไวขึ้นทุกวันๆ ทำให้หลายคนพยายามที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันมากขึ้น และบางครั้งผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจเสียด้วย แต่ทว่า ทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้อย่างง่ายดายขนาดนั้น เพราะมันต้องการการความใส่ใจและความพยายามในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
Source : talentsmart.com