5 ทีเด็ด! เอาชนะสิ่งที่เรามักจะกลัวในการทำงาน

4448

“ความกล้าคือสิ่งที่ต่อต้านความกลัว เป็นนายของความกลัว มิใช่สิ่งที่ทำให้ความกลัวอันตรธานไป” – มาร์ค ทเวน (Mark Twain)

แท้จริงแล้วสิ่งที่คุณกลัวมันอาจจะธรรมดากว่าที่คุณคิด อย่าปล่อยให้ความกลัวเหล่านั้นมาฉุดรั้งคุณไว้ ความกลัวคือการตอบสนองต่ออันตรายทั้งต่ออารมณ์และร่างกาย มันช่วยให้เราตื่นตัวและปลอดภัย แต่ความกลัวที่ มากเกินไป รังแต่จะก่อให้เกิดความกังวลและความเครียด โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในที่ทำงาน มันจะกลายเป็นตัวถ่วงเสียเปล่า

ต่อไปนี้คือ 5 ความกลัวในการทำงานที่มักเกิดกับคนส่วนใหญ่ รวมไปถึง 5 วิธีการในการเอาชนะมันด้วย

1. กลัวว่าจะกลายเป็นคนนอก

ความกลัวถูกปฏิเสธ คือความกลัวที่อยู่คู่คนเรามาช้านาน ในเวลาที่มนุษย์ยังคงอยู่กันเป็นเผ่า การถูกขับไล่ออกจากเผ่าซึ่งเป็นที่ๆ ปลอดภัยนั้น เปรียบได้กับการถูกขับไล่ไปสู่ความตาย ดังนั้น ความกลัวนี้จึงฝังแน่นอยู่กับคนเรามาตลอด

ภูมิคุ้มกัน: จงฟังอย่างตั้งใจและเปิดใจอยู่เสมอ

สำหรับคนอื่นๆ ไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าการรับฟังความคิดเห็นหรือสิ่งที่พวกเขากังวล คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นในทุกๆ เรื่อง เพราะแค่ผู้ร่วมงานของคุณรู้ว่าคุณยินดีรับฟัง เพียงเท่านี้พวกเขาก็รู้สึกดีแล้ว ต่างคนย่อมต่างความคิด เพราะฉะนั้นการเปิดใจเพื่อรับฟังประสบการณ์ของผู้อื่นจึงถือเป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวคุณเอง

2. กลัวว่าจะไม่ก้าวหน้า

เราทุกคนย่อมอยากรู้สึกว่าตนมีโอกาสก้าวหน้าและได้รับรางวัลตอบแทนจากงานที่ทำ การรู้ว่าเราเองมีความสามารถมากพอจะช่วยบรรเทาความกลัวนี้ได้  

ภูมิคุ้มกัน: จงคิดก้าวหน้าไป 2 ขั้นเสมอ

จงถามตัวเอง: อะไรคือสิ่งที่หัวหน้าของฉันต้องการและจำเป็นต้องมี? อะไรคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนคนนั้น? ฉันจะทำให้เจ้านายของฉันดูดีในสายตาคนอื่นได้อย่างไร? ฉันมีทักษะ ความเชี่ยวชาญ และผลลัพธ์อะไร ที่จะนำเสนออกไปได้?

3. กลัวว่าจะไม่เป็นที่ชื่นชอบ

มันเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่คนเราจะต้องการความสนใจและคำชมจากคนอื่นๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามองว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีความสามารถ หรือไม่ดีพอ ส่งผลให้ความกลัวว่าจะไม่เป็นที่รักเข้าครอบงำเรา

ภูมิคุ้มกัน: ปฏิเสธที่จะวิพากษ์วิจารณ์ และคิดในด้านดีไว้ก่อน  

เมื่อคุณค้นพบข้อดีของคนอื่นอย่างจริงใจ พวกเขามักจะทำดีตอบคุณด้วย การมองหาข้อดีในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งช่วยให้เพื่อนร่วมทีมรู้สึกดีตามไปด้วย จงมั่นใจว่าคุณเองก็มีข้อดีให้ชื่นชม ไม่ว่าจะอย่างไร จงเป็นมิตรกับผู้อื่นเสมอ อย่างที่ บริกแฮม ยัง (ฺBrigham Young) บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ทำไมเราจะต้องไปกังวลกับสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับตัวเรา เราเชื่อในความคิดเห็นของคนอื่นมากกว่าเชื่อตัวเราเองอีกหรือ?”

4. กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอหรือล้มเหลว

การกลัวความล้มเหลว จะส่งผลให้คนเราลังเลในการมีส่วนร่วม หรือลองโปรเจ็คใหม่ๆ ที่ท้าทาย เมื่อใดก็ตามที่ความกลัวนี้ทำให้เราเริ่มกลายเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง หรือไม่ยอมตั้งเป้าหมายใหม่ สิ่งนี้จะนำไปสู่สิ่งที่เรากลัวมากที่สุด ซึ่งก็คือ ผลเสียร้ายแรงต่อหน้าที่การงานเรานั่นเอง

ภูมิคุ้มกัน: แสดงความชัดเจนถึงสิ่งที่คาดหวัง และละทิ้งความสมบูรณ์แบบ

ลองถามเจ้านายของคุณดูว่าโปรเจ็คที่ทำจะออกมาในรูปแบบใดเมื่อสำเร็จแล้ว จากนั้นให้คิดถึงผลตอบรับที่คุณต้องการะหว่างการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าคุณกำลังเดินหน้าไปในทางที่ถูก จงจำไว้เสมอว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ จงเปิดใจที่จะลองสิ่งใหม่ๆ และลงมือทำมันโดยไม่สนใจว่ามันจะต้องออกมาสมบูรณ์แบบเสมอ ลองถามตัวเองดู “ฉันได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง? แล้วงานมันจะออกมาเป็นแบบไหนกันนะ หากว่าฉันรอบรู้เกี่ยวกับงานชิ้นนี้อย่างดีมาตั้งแต่แรก?”

5. กลัวว่าจะถูกไล่ออก

มีเหตุผลตั้งมากมายที่ใครสักคนจะถูกไล่ออก ยกตัวอย่างเช่น การที่บริษัทสูญเสียลูกค้าคนสำคัญ อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือฝ่ายการจัดการทีมใหม่ต้องการที่จะนำทางบริษัทไปในเส้นทางที่ต่างไปจากเดิม คนเราควบคุมเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราวางแผนที่จะรับมือกับมันได้

ภูมิคุ้มกัน: จงตื่นตัวและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

คุณควรหมั่นเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านายของคุณ เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมของคุณ และที่ทางในตลาดของบริษัท รวมไปถึง เรื่องการเงิน ลูกค้ารายสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น คุณควรจะลองถามหัวหน้าของคุณอย่างไม่อิดออด ว่าจะช่วยเขาแบ่งเบางานที่กำลังล้นมือ หรือจะช่วยโปรเจ็คและเป้าหมายของบริษัทก้าวหน้าได้อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคุณควรจะจดเอาไว้ว่าคุณได้สร้างความสำเร็จอะไรบ้าง เพราะมันสามารถนำไปใช้อัพเดตประวัติการทำงานของคุณได้อีกด้วย

 

Source : Success