5 เคล็ดลับที่ช่วยให้คุณมี “ความคิดริเริ่ม” สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

4715

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักธุรกิจ นักประดิษฐ์ หรือทั้งสองอย่าง การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นี่แหละ เป็นสิ่งแรกที่คุณต้องให้ความสำคัญ

การทำให้สิ่งที่คิดเกิดขึ้นจริงได้นั้นนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ Jim Marggraff ผู้เป็นทั้งนักประดิษฐ์และนักธุรกิจเข้าใจความรู้สึกนี้ดี ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะคิดว่า ไอเดียเจ๋งๆ นั้น จู่ๆ ก็เกิดขึ้นเองเสร็จสรรพในหัว แต่เหล่านวัตกรหรือนักประดิษฐ์จะรู้ดีว่าต้องทำงานหนัก หนักมาก กว่าจะสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาได้สักอย่าง

ไม่ว่าคุณอยากก้าวเข้าสู่เส้นทางธุรกิจ หรือได้ค้นพบว่าอยากคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ล่ะก็ มาดูกันเถอะว่าเคล็ดลับ 5 ข้อที่จะสร้างแรงบัลดาลใจสู่ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีอะไรกันบ้าง

1.ให้ปัญหาที่มี เป็นเครื่องชี้นำทาง

นักประดิษฐ์และผู้ประกอบการล้วนให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของการทำงานเป็นหลัก วิธีแก้ปัญหานับเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลลัพธ์เช่นตัวผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจ ทุกหนทางแก้ล้วนเริ่มต้นมาจากปัญหาก่อนเสมอ ปัญหาจึงควรเป็นสิ่งที่นำทางคุณ นักประดิษฐ์ชั้นยอดจะศึกษาปัญหาของพวกเขาให้ชัดเจนและรอบคอบ ก่อนที่จะเริ่มคิดว่าจะจัดการกับมันอย่างไร  ดังนั้น ก่อนจะเริ่มต้นโปรเจ็คอะไรก็ตาม สิ่งที่ Margraff ทำเป็นอย่างแรกคือ ระบุปัญหาที่จะต้องแก้ไข (Problem to solve: PTS) วิเคราะห์ให้รอบด้านจนทะลุปรุโปร่งเสียก่อน เขาถึงสามารถสรุปภาพรวมของปัญหาเพื่อนำไปสู่วิธีแก้ที่ดีที่สุด

แนวคิดนี้ใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตไม่เพียงแค่งานธุรกิจใหญ่ๆ ขอเพียงคุณต้องหาต้นตอของปัญหาให้เจอ แล้วจึงจะสามารถเริ่มแก้ไขได้ นักคิดค้นนวัตกรรมทุกคนควรเรียนรู้ที่จะมองปัญหาให้ออกอย่างชัดเจน ไม่อย่างนั้นจุดเริ่มต้นของคุณก็จะไม่มั่นคงพอ หรืออาจจะเริ่มตั้งต้นไม่ได้เลย

2. เตรียมตัวให้พร้อมเสมอ สำหรับ ไอเดียใหม่ๆ

นักประดิษฐ์จะรู้ดีว่าเราไม่สามารถวางแผนให้ความคิดใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเองได้ เพราะว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าแรงบันดาลใจจะมาเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นคุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเวลานั้นเสมอ  ซึ่งปัญหาของคุณเองนี่แหละที่มีบทบาทสำคัญ Margraff จะคำนึงถึงหลักการ PTS ตลอดเวลา เพราะมันเป็นตัวขับเคลื่อนความสงสัยและความคิดอันหลากหลาย เขาจึงสามารถแก้ปัญหาได้ในช่วงเวลาที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการประชุมหรือตอนกลางดึกก็ตาม

ยกตัวอย่างกรณีของ Margraff บริษัทของเขาเชี่ยวชาญเรื่องปฏิกิริยาของสายตาต่อเทคโนโลยี VR และปัญหาหนึ่งที่พบคือการระบุทิศทางการเคลื่อนไหวของดวงตา จู่ๆ ในขณะที่นั่งดูถ่ายทอดการแข่งบาสเก็ตบอลจังหวะกำลังชู้ตลูก เขาก็รู้สึกได้ว่าว่าตากำลังตามทิศทางโค้งของลูกและหยุดนิ่งที่ลูกวินาทีที่กำลังลงห่วง ทำให้ตระหนักรู้ทันทีว่าการเคลื่อนที่ของสายตาเขาขณะนั้น นั่นแหละคือสิ่งที่เขากำลังพยายามหาคำตอบอยู่

เขาเตรียมตัวเองให้พร้อมแม้จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าไอเดียดีๆ มันจะมาเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น จงนึกถึงปัญหานั้นไว้ในใจ แล้วคุณจะพร้อมคว้าแรงบันดาลใจมาใช้ได้ทันท่วงที

3. รู้จุดมุ่งหมายในการฟัง

 

การฟังไม่ใช่เรื่องยาก แต่การฟังอย่างไร้จุดหมายนั้นไม่ค่อยเกิดผลนักหรอก สำคัญคือต้องเรียนรู้ที่จะฟังอย่างมีจุดมุ่งหมาย บนโลกเต็มไปด้วยนักพูดมากมาย และการพูดคุยก็เกิดขึ้นทุกที่ไม่ว่าจะเป็นในงานสัมมนาหรือตลาดสด จงฉลาดเลือกฟังคนที่พร้อมจะต่อยอดความคิดให้กับคุณจริงๆ โลกเราคือโลกแห่งถ้อยคำ การรู้จักเลือกรับฟังสามารถนำเราไปสู่การเริ่มต้นสิ่งสำคัญๆ ในชีวิตได้ และคุณก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปทำในสิ่งที่ไม่ใช่สำหรับคุณด้วย

4. ให้งานเติมเต็มคุณ แทนที่จะเป็นการแข่งขัน

การเป็นนักประดิษฐ์หรือนักธุรกิจเป็นงานหนัก ยิ่งถ้าจะเป็นให้ได้ทั้งสองอย่าง คุณจะต้องมีความแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ถึงกับหนักหนาสาหัสอะไร เพียงแต่ต้องพยายามจัดการให้บทบาทหน้าที่กับสิ่งที่ต้องทำเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

เรามักคิดว่าเราสามารถจับทุกอย่างแยกกันหรือจำแนกได้ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ไอเดียกับโปรเจ็คเป็นสิ่งที่มาคู่กัน เพราะมันจะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมันได้ทำงานร่วมกัน Margraff บอกว่าเขานั้นมักมองหาความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันของธุรกิจ อย่างเช่น สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร และผู้ประกอบการ เพื่อว่าหากด้านใดประสบความสำเร็จ ด้านอื่นๆ ก็จะได้รับผลพลอยได้ไปด้วย

5. อย่าขี้เกียจ หรือสบายใจมากเกินไป

การสร้างนวัตกรรมอาศัยความคล่องแคล่ว คุณจึงต้องไม่ปล่อยให้ตนพึงพอใจกับสิ่งใดง่ายๆ เพราะมันอาจทำให้คุณหยุดนิ่งอยู่ที่เดิม เช่นว่า คุณต้องคิดการใหญ่แต่ก็ต้องไม่มองข้ามรายละเอียด  คนอื่นจะเห็นแม้แต่ข้อผิดพลาดเล็กๆ เพราะการพูดว่า ไม่เป็นไร ไม่มีใครเห็น ก็หมายถึงความขี้เกียจ เชื่อเถอะว่าผู้ใช้งานนี่แหละที่เป็นนักวิจารณ์ชั้นยอด พวกเขาจะวิจารณ์งานของคุณอย่างตรงจุด และให้คุณรู้ว่างานมีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง

เป็นเรื่องปกติที่คนเรามักรู้สึกพึงพอใจกับไอเดียแรกที่ที่คิดขึ้นมาเองเสมอ แต่อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนี้ไปยับยั้งการเติบโตทางความคิด จงทุ่มเทเพื่อไอเดียที่ดีที่สุดไม่ใช่แค่ไอเดียแรกที่คุณปิ๊งขึ้นมา  

ลองเสนอไอเดียของคุณให้คนแปลกหน้าวิจารณ์ หากพบว่าไอเดียนั้นไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ ก็ให้คิดหาไอเดียใหม่ไปเรื่อยๆ มองความคิดตัวเองประหนึ่งผ่านสายตาของฝ่ายตรงข้าม และถ้าหากคุณเลิกขี้เกียจหรือพึงพอใจกับไอเดียเดิมๆ ได้ การคิดค้นนวัตกรรมจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก

แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการคิดค้นนวัตกรรม ที่เหลือนั้นต้องอาศัยการลงมือทำโดยมีวิธีคิดเป็นแรงผลักดัน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักธุรกิจ นักประดิษฐ์ หรือทั้งสองอย่าง การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นี่แหละเป็นสิ่งแรกที่คุณต้องให้ความสำคัญ

Source: Success