5 สิ่งที่จะช่วยให้คุณ “มีความสุข” มากกว่าเคย

7763

มีคำแนะนำเกี่ยวกับความสุขจำนวนมหาศาลจนอาจทำให้คุณหัวหมุน คนเราล้วนมีความแตกต่างกันออกไป สิ่งใดที่ทำให้คนหนึ่งมีความสุขอาจทำให้อีกคนหนึ่งต้องทุกข์ระทมก็เป็นได้

แล้วในโลกที่มีแต่มุมมอง ความคิดเห็น และคำแนะนำส่วนตัวที่มากมายเต็มไปหมด แล้วคำแนะนำไหนล่ะ ที่จะช่วยให้คุณมีความสุขมากขึ้นได้จริง ๆ ? ก่อนอื่นขอให้คุณลืม คำแนะนำจากความคิดเห็นส่วนตัวของผู้คนมากมายไปก่อน แล้วหันมาทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับวิธีการที่ถูกพิสูจน์แล้วด้วยวิทยาศาสตร์กันดีกว่า…

“ความสุขสร้างขึ้นมาเองไม่ได้ มันล้วนเกิดขึ้นได้ด้วยการกระทำของคุณเอง”
– ดาไล ลามะ (Dalai Lama)

อเล็กซ์ คอร์บ (Alex Corb) นักวิจัยด้านประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัย The University of California – Los  Angeles ได้ทุ่มเทเวลามากมายไปกับการศึกษาหลักการสร้างความสุขที่มีผลต่อสมองแตกต่างกันไป ซึ่งการค้นพบของเขาช่วยชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดบ้างที่สามารถเพิ่มความสุขให้กับเราได้มากขึ้น ผลการวิจัยของคอร์บ แสดงให้เห็นว่า ความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่ตอบสนองต่อกันนั้น มีผลอย่างลึกซึ้งต่อส่วนต่างๆ ของสมองได้อย่างน่าประหลาดใจ

ยกตัวอย่าง ความรู้สึกผิดและความละอายใจไปกระตุ้นศูนย์กลางของสมองส่วนระบบรางวัล (Brain Reward Center) ซึ่งควบคุมอารมณ์และความอยาก จึงทำให้คนเรามีแนวโน้มอยากจะเก็บความรู้สึกผิด หรือความละอายเหล่านั้นไว้กับตัวมากกว่า เช่นเดียวกัน ความรู้สึกกังวลก็จะไปกระตุ้นการทำงาน ของสมองขั้นสูง (Rational Brain) ที่ควบคุมความคิดการตัดสินใจอันเป็นเหตุเป็นผล ทำให้เวลาที่คนเราเกิดความกังวลขึ้นมา กลับส่งผลให้เราสามารถคิดตัดสินใจควบคุมการกระทำต่าง ๆ ได้ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลยนั่นเอง

1. ความซาบซึ้งใจก่อให้เกิดความสุขได้

ยาที่แท้จริงที่ช่วยรักษาอาการซึมเศร้าได้ก็คือ ความรู้สึกซาบซึ้งใจ เพราะมันสามารถช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินและโดพามีนที่เป็นสารสร้างความสุขในสมองของเราได้ อีกทั้งยังเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาโรคซึมเศร้าอีกด้วย สิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงแค่ การคิดถึงสิ่งที่คุณรู้สึกซาบซึ้งและชื่นชม เพื่อที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารในสมอง การคิดแบบนี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยกระตุ้นให้คุณรู้สึกมีความสุขมากยิ่งขึ้น

2. การพยายามหาต้นตอของความรู้สึกแง่ลบ

มันจะช่วยลดความรู้สึกแย่ๆ ลงได้ มีการทดลองหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ทำการสแกนสมอง ขณะที่กำลังอธิบายความรู้สึกแย่ๆ ของตนเอง ซึ่งพบว่าสมองส่วนหน้าสุดจะเริ่มมีบทบาท ในขณะที่สมองส่วนอะมิกดาลาซึ่งมีผลต่อความกลัวได้ผ่อนคลายลง วิธีการนี้ไม่ได้ใช้ได้ผลแค่กับอารมณ์ของคุณเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้กับผู้อื่นด้วย พวกเขาจะรู้สึกผ่อนคลายลงเมื่อเราระบุได้ว่าเขารู้สึกแย่อย่างไร  ด้วยเหตุนี้การสอบสวนผู้ต้องหาของเอฟบีไอ จึงมักจะสอบสวนบนพื้นฐานของเทคนิคนี้เช่นกัน

3. การได้ตัดสินใจ ก็ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้เช่นกัน

คล้ายกับได้แจกแจงอารมณ์ของตัวเองนั่นแหละ การตัดสินใจต้องใช้ความสามารถของสมองส่วนหน้าสุด เพราะสมองส่วนนี้ช่วยผ่อนคลายสมองส่วนอะมิกดาลาและส่วนอื่นๆ ได้ หัวใจสำคัญของมันก็คือ เพื่อให้เรามีการตัดสินใจที่ “ดีพอ” แทนที่จะต้องให้สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียด

การตัดสินใจที่ “ดีพอ” กระตุ้นให้สมองส่วนการประมวลผล dorsolateral prefrontal ไปผ่อนคลายอารมณ์ลง เราจึงรู้สึกว่าควบคุมตนเองได้มากขึ้น ในทางกลับกัน การพยายามทำการตัดสินใจ อย่างสมบูรณ์แบบ ก็จะไปกระตุ้นการทำงานสมองส่วนอารมณ์และการตัดสินใจ ventromedial frontal ทำให้เราใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากเกินไปนั่นเอง

4. ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นก็ทำให้คุณมีความสุขได้

การใช้เวลาช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานไม่เพียงแต่จะช่วยให้พวกเขามีความสุข เพราะเราเองก็มีความสุขไปกับพวกเขาด้วย จากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนออกซิโทซิน เซโรโทนิน และโดพามีน ซึ่งฮอร์โมนทั้งสามตัวนี้ช่วยเสริมให้เกิดอารมณ์ดี งานวิจัยของฮาร์วาร์ด ระบุว่า พนักงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ร่วมงานคนอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะมีสมาธิกับงานที่ทำได้มากกว่าปกติถึง 10 เท่า และยังมีโอกาสได้รับการเลื่อนขึ้นถึง 40% การวิจัยยังระบุอีกว่าเหล่าคนที่ให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้คนในสังคมรอบๆ ตัวอย่างสม่ำเสมอดูจะเป็นเหล่าคนที่มีความสุขมากที่สุด ในเวลาที่ต้องเผชิญกับความเครียดสูง ตราบใดที่คุณไม่ได้พยายามมากจนเกินตัว การช่วยเหลือผู้อื่นย่อมมีอิทธิพลที่ดีต่อความสุขของตัวเราเองอย่างแน่นอน

5. สมองของเราเชื่อมต่อกับการสัมผัส

เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม จะพูดให้ตรงประเด็นก็คือสมองของคนเรานั้นตอบสนองต่อการกีดกันทางสังคม เฉกเช่นเดียวกับเวลาที่สมองตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางกาย ซึ่งเกิดจากการทำงานของสมองส่วน anterior cingulate และ insula สมองถูกทำให้จดจำว่าการสัมผัสหมายถึงการยอมรับทางสังคม

การสัมผัส คือ ตัวกระตุ้นขั้นต้นในการปลดปล่อยฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งช่วยผ่อนคลายสมองส่วนอะมิกดาลาและอารมณ์ความรู้สึก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจำนวนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการจับมือด้วยความรักส่งผลให้สมองตอบสนอง
ต่อความเจ็บปวดลดลง คุณอาจจะคิดว่านั่นคือข่าวร้ายสำหรับคนรักสันโดษ แต่ยังมีการนวดอีกอย่าง ที่ช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินได้สูงสุดถึง 30% ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การสัมผัสช่วยลดฮอร์โมนความเครียด ลดการรับรู้ความเจ็บปวด ช่วยให้นอนหลับสบาย และผ่อนคลายความเหนื่อยล้านั่นเอง  

การวิจัยของคอร์บ ช่วยย้ำให้เห็นว่าสมองของคนเราน่าอัศจรรย์ขนาดไหน และเขายังได้พูดสรุปการค้นพบของเขาไว้อย่างสั้นๆ อีกว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเชื่อมโยงกัน ความซาบซึ้งใจมีผลดีต่อการนอนหลับ การนอนหลับผ่อนคลายความเจ็บปวด เมื่อความเจ็บปวดถูกผ่อนคลายลง อามรณ์ของคุณก็จะดีขึ้น เมื่ออารมณ์ดีขึ้นความวิตกกังวลก็จะลดลง และส่งผลให้เกิดสมาธิและการวางแผนที่ดี สมาธิและการวางแผนที่ดีช่วยในการติดสินใจ การตัดสินใจทำให้ความวิตกกังวลลดลงมากขึ้น และส่งเสริมความสุข ความเพลิดเพลิน ความสุขทำให้คุณรู้จักที่จะซาบซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดวงจรที่ได้กล่าวไปข้างต้นอย่างไม่หยุดยั้ง และความสุขทำให้เริ่มอยากที่จะออกกำลังกายและเข้าสังคม ซึ่งทำให้คุณมีความสุขยิ่งขึ้นอีก

 

Source : Talentsmart