5 พฤติกรรมของคนติด”เฟซบุ๊ก”ตามหลักจิตวิทยา (พร้อมวิธีแก้ไข)

13455

แดเนียล เป็นหนึ่งในคนที่กำลังบำบัดตัวเองจากอาการ “ติดเฟซบุ๊ก” เขาจึงอยากจะช่วยให้คนอื่นๆเข้าใจว่าสาเหตุการติดเฟซบุ๊กคืออะไร? รวมไปถึงวิธีแก้ง่ายๆ ที่สามารถทำตามได้เลย เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคุณ

ขั้นตอนแรกในการแก้นิสัยเสียทุกๆอย่างก็คือ ทำความเข้าใจกับสิ่งเร้าใจที่ทำให้เกิดนิสัยเสียนั้น โดยสิ่งเร้าที่ว่านั้นมีอยู่ 5 อย่างที่แดเนียลคุ้นเคยเป็นอย่างดี

1. การเลื่อนดูเฟซบุ๊กบ่อยๆ เป็นพฤติกรรมของคนชอบผลัดวันประกันพรุ่ง

เฟซบุ๊กทำให้คุณมีแนวโน้มเป็นคนผลัดวันประกันพรุ่ง การเลื่อนนิวส์ฟีดซึ่งเต็มไปด้วยสเตตัสของเพื่อนๆมากมาย จนทำให้คุณลงมือทำในสิ่งที่ควรทำไม่ได้สักที เพราะอย่างงี้การเปลี่ยนแปลงมุมมองที่คุณมีต่อเฟซบุ๊กอาจเป็นผลดีกว่า แทนที่จะมองว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่เข้าสังคมหรือเพื่อฆ่าเวลา อาจลองมองใหม่ว่าเป็นตัวการที่ทำให้คุณพลาดสิ่งดีๆ หลายสิ่งที่คุณอยากทำในชีวิต เท่านี้เฟซบุ๊กก็ดูไม่ใช่สิ่งที่ยั่วยวนใจเหมือนที่เคยแล้วใช่ไหมล่ะ?!

2. การแชร์บนเฟซบุ๊กจนเกินพอดี เป็นพฤติกรรมของคนขี้เหงาหรือขี้ลังเล

ถ่ายรูป

เฟซบุ๊กก็เหมือนรายการเรียลลิตี้โชว์น่าเบื่อที่ฉายอยู่ทั้งวัน คุณจำเป็นต้องบอกให้โลกรู้จริงหรือว่ากินข้าวเที่ยงกับอะไร? การแชร์รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นการทำให้ชีวิตคุณดูมีคุณค่ามากขึ้น แต่อาจเป็นเพราะคุณรู้สึกเหงาและอยากได้รับการยอมรับต่างหากล่ะ การเอาแต่ฟังความเห็นของคนอื่นอาจแปลว่าคุณกำลังลังเลและไม่มีความมั่นใจในตัวเอง โดยบางครั้งเวลาคุณได้รับความเห็นที่ไม่ดี คุณกลับโทษคนอื่นแล้วปกป้องอีโก้ของตัวเองไว้

3. การตามดูคนในเฟซบุ๊ก บ่งบอกถึงความคลั่งไคล้แบบผิดวิธีหรือการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากไป

เฟซบุ๊กทำให้คุณติดตามชีวิตคนอื่นได้ง่ายขึ้น มีเหตุผลที่ไม่ดีนักสองข้อที่ทำให้คุณเกิดนิสัยชอบตามดูคนอื่น ถ้าคุณกำลังแอบตามโปรไฟล์แฟนเก่า นั่นแปลว่าคุณกำลังติดอยู่กับอดีต และควรหาความช่วยเหลือ ถ้ายังไม่สามารถก้าวข้ามข้อผิดพลาดในอดีตได้ หรือ ถ้าคุณกำลังแอบตามโปรไฟล์ของคนที่แอบชอบ คุณก็ควรจะเริ่มทำอะไรสักอย่างได้แล้ว เช่น ส่งข้อความไปเพื่อเริ่มบทสนทนาและชวนออกเดทหากคุยกันถูกคอ นอกจากนี้การตามดูเฟซบุ๊กคนอื่น อาจเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทรมานตัวเอง เพราะเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือที่สะดวกมากทำให้เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งโดยปกติก็ยากอยู่แล้วที่คนเราจะห้ามใจตัวเองไม่ให้เปรียบเทียบ

4. การเสพติดการแจ้งเตือนบนเฟซบุ๊ก เป็นพฤติกรรมของคนมีความอดทนต่ำ

facebook

เฟซบุ๊กใช้ประโยชน์จากความต้องการและความพึงพอใจของคุณ โดยสมองจะหลั่งสารโดพามีนออกมาทุกครั้งที่คุณเห็นปุ่มแจ้งเตือนเด้งขึ้นมา โดพามีนเป็นสารเคมีในสมองที่ทำให้คุณมีความสุขกับสิ่งต่างๆ อย่างเช่น อาหาร เพศสัมพันธ์ และยาเสพติด แม้ว่าดูเผินๆ ความสุขจะเป็นสิ่งที่ดี แต่โดพามีนมักทำให้เกิดนิสัยแย่ๆต่อตัวเอง การกลายเป็นทาสของการแจ้งเตือนบนเฟซบุ๊กอาจทำให้คุณสูญเสียการควบคุมตัวเองในเวลาอันรวดเร็ว แย่ไปกว่านั้นมันจะทำให้คุณโหยหาการถูกชื่นชอบและยอมรับมากขึ้น เพราะทุกครั้งที่คุณได้ “(ถูกใจ)ไลค์” สมองจะตีความไปว่ามีคนกำลังชอบคุณอยู่ แล้วคุณก็จะเสพติดการถูกไลค์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

5. การติดรีเฟรชหน้าฟีดเฟซบุ๊ก เป็นอาการกลัวตามข่าวสารไม่ทัน (FOMO – Fear of Missing Out)

เฟซบุ๊กทำให้คุณเสียสมาธิเพราะมันทำให้คุณกลัวว่าจะพลาดอะไรไป ตอนออกเดทก็เช็คตลอดเพราะไม่อยากพลาดข่าวอัพเดทน่าสนใจ ซึ่งอาจจะทำให้เดทของคุณกร่อยได้ หรือแม้กระทั่งตอนขับรถก็ยังเช็คข้อความเผื่อว่าจะมีข่าวคราวน่าตื่นเต้นจากเพื่อนๆ ทักเข้ามา อาจเป็นเหตุทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตได้เช่นกัน

ถ้าหากคุณพร้อมจะเลิกนิสัยติดเฟซบุ๊กแล้ว ให้ทำตาม 5 ขั้นตอนต่อไปนี้เลย!

ภูเขา สดชื่น เที่ยว

1. ยอมรับว่าคุณกำลังเสพติดมัน

คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถ้าไม่ยอมรับว่าคุณมีปัญหา ไม่ถึงขั้นต้องลงโทษตัวเอง แต่ให้พยายามซื่อสัตย์กับตัวเอง มากพอที่จะจะยอมรับว่าคุณกำลังติดเฟซบุ๊กอยู่ หลายๆ คนก็มีปัญหาแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ต้องอาย บอกกับเพื่อนที่ไว้ใจได้ โดยเฉพาะคนที่มีเป้าหมายแบบเดียวกันอาจช่วยให้คุณจัดการตัวเองได้ดีขึ้น

2. มีสติระวังต่อสิ่งเร้าต่างๆ ที่ทำให้คุณติดเฟซบุ๊ก

ทำงาน

5 เหตุผลที่บอกไปก่อนหน้านี้ อาจไม่เหมือนของคุณทั้งหมดก็ได้ จึงให้ลองโฟกัสในข้อที่มีผลต่อคุณมากที่สุดก็พอ ถ้าหากไม่มั่นใจ ลองทำแบบฝึกหัดนี้เพื่อสะท้อนตัวเองดู มันจะเผยให้เห็นว่าทำไมคุณถึงเลิกติดเฟซบุ๊กไม่ได้เสียที จดคำถามข้างล่างนี้ลงในไดอารี่หรือสมุดบันทึกจนกว่าคุณจะสามารถตอบได้

  • ตอนนี้คุณทำอะไรบนเฟซบุ๊ก? (เลื่อนดูไปเรื่อยๆ, แชร์เยอะจนเกินไป, ตามดูโปรไฟล์คนอื่น, เช็คการแจ้งเตือน หรือ รีเฟรชแต่หน้านิวส์ฟีด)
  • คุณทำเมื่อไหร่? (ช่วงว่างจากงาน, ทันทีที่ตื่นนอน, ก่อนเข้านอน, ระหว่างออกเดท ฯลฯ)

3. รับรู้และเข้าใจนิสัยนี้อย่างที่มันเป็นจริงๆ

ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณเลิกติดเฟซบุ๊กได้ ถ้าคุณปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ  ทุกครั้งที่รู้สึกอยากอัพเดทสเตตัสหรือเช็คหน้าฟีด ให้คิดว่าอะไรคือแรงผลักที่แท้จริง(นิสัยนั้นเกิดจากความเคยชิน ไม่ใช่เกิดจากการตัดสินใจอย่างมีสติครบถ้วน) มันจะเห็นผลมากยิ่งขึ้น ถ้าคุณทำข้อ 2 ด้านบนสำเร็จแล้ว เพราะคุณจะจำได้ว่าสิ่งเร้าความรู้สึกของคุณนั้นมีอะไรบ้าง?!

4. เห็นใจและเข้าใจตัวเองขณะพยายามเลิกพฤติกรรมติดเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊กทำให้คุณเสียเวลาไปมากก็จริง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณควรจะต่อว่าตัวเองทุกครั้งที่เข้าใช้งาน นักจิตวิทยามองว่าการผัดวันประกันพรุ่งคือกลไกการจัดการปัญหาในตัวเองแบบผิดที่ผิดทาง ทั้งนี้ เพราะการต่อว่าตัวเองก็จะทำให้คุณยิ่งรู้สึกแย่ต่อตัวเองแถมยังทำให้อยากเล่นเฟซบุ๊กมากขึ้นอีกด้วย การเกลียดชังตัวเองเป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลว ทำให้คุณคิดไปว่ายังไงก็หยุดไม่ได้หรอกเพราะ “ขี้เกียจเกินไป” เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะหยุดได้จริงๆ คุณต้องเห็นอกเห็นใจและรักตัวเองเข้าไว้

5. หากิจกรรมอื่นมาทดแทน

หนังสือ

การเลิกนิสัยแย่ๆ จะง่ายขึ้นมากถ้าคุณสร้างนิสัยที่ดีขึ้นมาแทนที่ได้ อย่างเช่น แดเนียลที่เลือกหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านทุกครั้งที่รู้สึกอยากเช็คเฟซบุ๊ก ผลของมันน่าทึ่ง เพราะว่าเขาอ่านหนังสือได้เป็นร้อยหน้าภายในวันแรกเลยทีเดียว เชื่อเถอะว่าการใช้เวลาน้อยนิดเพื่อเช็คเฟซบุ๊กตอนว่างๆ สุดท้ายแล้วก็จะกลายเป็นการเอาเวลาแทบทั้งหมดไปทิ้งเสียเปล่า การมีตัวชี้วัดเพื่อติดตามผลเป็นสิ่งสำคัญ หากมีสิ่งที่การันตีว่าเวลาของคุณจะถูกใช้ไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้คุณมีกำลังใจในการเลิกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กไม่ใช่เว็บไซต์ที่มีแต่ข้อเสียหรอกนะ เพราะมันเปิดโอกาสให้เราได้ติดต่อกับผู้คนที่เราเป็นห่วงเป็นใยได้สะดวกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณมีพฤติกรรมการเสพติดเฟซบุ๊กดังกล่าว เราก็แนะนำให้คุณเลิกมันซะ เพื่อผลดีต่อตัวคุณเอง คุณจะได้ไปทำตามเป้าหมายของตัวเองให้สำเร็จแล้วหันมาสนุกกับผู้คนที่อยู่ตรงหน้าบ้าง

 

Source : Life Hack