ถ้าคุณเรียกร้านกาแฟว่า “ออฟฟิศ” นี่คือบทความสำหรับคุณ
คาดกันว่าภายในปี 2020 กลุ่มคนทำงานอิสระที่เรียกกันว่า “ฟรีแลนซ์” จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 50% ของตลาดแรงงานทั้งหมด แม้ว่าวิถีฟรีแลนซ์จะมาพร้อมกับอิสรภาพอันหอมหวาน แต่ข้อเสียคือ คุณจะขาดความมั่นคงทางการเงิน สิทธิ์การเข้าถึงประกันสุขภาพ สิทธิ์ลาพักร้อน รวมไปถึงการตระเตรียมเงินออมหลังเกษียณอย่างเป็นระบบ
“ฟรีแลนซ์” หรือ freelancer คือคำจำกัดความกว้างๆ ของหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักกฏหมาย นักเขียน คนทำงานด้านไอที นักออกแบบ หรือใครก็ตามที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันหรือเป็นรายชิ้นไป พวกเขาอาจรักความอิสระจากการที่ได้ทำงานหลายอย่างๆ กำหนดตารางและระยะเวลางานด้วยตัวเอง แต่โดยรวม เรื่องเงินถือเป็นปัญหาสำหรับพวกเขาอยู่ไม่น้อย จากโพลของ QuickBooks โดย Pollfish ที่ทำขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018 พบว่า กว่า 36% ของคนทำงานอิสระในสหรัฐอเมริกาไม่ได้จ่ายภาษีเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ อีกส่วนเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองทำรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่ว่าจะกรณีใด ก็ดูจะไม่เป็นผลดีทั้งนั้น
จากโพลหนึ่งของ Marist/NP ที่จัดทำขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่าน พบว่ามี 1 ใน 5 จากแรงงานชาวอเมริกันที่ทำงานในฐานะ contract workers หรือทำงานตามวาระสัญญาว่าจ้างชั่วคราว พวกเขาไม่ใช่ลูกจ้างประจำและไม่ได้สิทธิประโยชน์ใดๆ เลย ดังนั้น เราจึงมีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ชาวฟรีแลนซ์เหล่านี้จัดการการเงินต่างๆ ด้วยตัวเองได้
1. ให้แอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นตัวช่วย
การเป็นฟรีแลนซ์ไม่ใช่แค่การทำงานที่คุณถูกจ้างให้ทำเท่านั้น มันไม่ต่างอะไรมากนักจากการทำธุรกิจโดยมีตัวเองเป็นสินค้าและบริการ คุณจึงต้องจัดการตัวเองให้ดี เพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้าของงานต่างๆ ที่ต้องทำ ออกใบแจ้งรายงานให้ลูกค้า และบันทึกรายรับของตนได้อย่างเป็นระบบระเบียบ
นอกจากนี้ คุณยังต้องสามารถประเมินรายจ่ายการทำงานของตัวเองได้ด้วย อาจเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตพิเศษ ประกันชีวิต วัสดุอุปกรณ์ หรือพื้นที่ในการทำงาน จดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกำหนดการจ่ายบิล และบัญชีรายจ่ายทั้งหมดที่ถูกใช้ไปในการทำงาน ฯลฯ
โชคดีที่มีแอพพลิเคชั่นมากมายที่เป็นตัวช่วยให้คุณได้ เช่น Invoicely แอพที่ใช้สร้าง จัดการ และบันทึกรายการงาน และทำบัญชีรายจ่ายรายได้ ลองหาแอพที่เหมาะกับการทำงานในแบบของคุณดูสิ
2. ไม่ละเลยการจ่ายภาษี
อย่าละเลยเรื่องภาษีเด็ดขาด แม้ว่าคุณจะไม่ได้มีรายได้ประจำ แต่ในฐานะฟรีแลนซ์ คุณคือนายจ้างของตัวเอง คุณจึงต้องไม่ลืมยื่นภาษีเงินได้ประจำปีและจ่ายภาษีให้ตรงตามกำหนดด้วย ซึ่งนี่รวมไปถึงภาษีเงินได้ในฐานะคนทำงานอิสระในส่วนของหลักประกันสังคมและสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนที่พนักงานจ้างประจำส่วนใหญ่ไม่ต้องจ่ายเองทั้งหมด ในขณะที่ฟรีแลนซ์จะต้องช่วยเหลือตัวเองในส่วนนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนปรับย้อนหลังจากกรมสรรพากร
3. วางแผนสภาพคล่องทางการเงิน
ไม่ว่าคุณจะทำงานในกองถ่ายหรือนักบัญชีภาษีอากรชั่วคราว คุณก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับช่วงเงินฝืดเช่นกัน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่ารายได้เดือนต่อเดือนของชาวฟรีแลนซ์นั้นไม่สู้จะมั่นคงหรือคาดเดาได้นัก
เคล็ดลับในการสร้างสมดุลคือการประมาณการว่ารายจ่ายต่อปีของคุณมีเท่าไหร่และหารออกเป็น 12 ส่วน จะได้รู้ว่าต้องหารายได้ต่อเดือนประมาณเท่าไหร่จึงจะครอบคลุมรายจ่ายนั้น เดือนไหนที่ได้เงินเยอะกว่าปกติ ก็ต้องไม่ลืมเก็บออมเผื่อเดือนที่อาจจะมีรายได้เข้ามาน้อย เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือการใช้จ่ายใดๆ ในอนาคตด้วย เช่น รถยนต์ บ้าน หรือการเดินทางไกลๆ นักวางแผนด้านการเงินแนะว่าควรออมเงินให้เท่ากับจำนวนรายได้หนึ่งเดือนสำหรับกรณีฉุกเฉิน และถ้าเป็นไปได้ ควรออมเพิ่มอีกเป็นจำนวนเท่ากับรายได้เฉลี่ย 3-4 เดือนสำหรับภาวะเงินฝืดเคืองของการเป็นฟรีแลนซ์
การประหยัดโดยที่มีรายได้ขึ้นๆ ลงๆ นั้นเป็นเรื่องยากกว่าที่คุณคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำว่าผู้ประกอบการควรตั้งเป้าไว้เลยว่าต้องมีเงินเก็บครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด การทำงานอิสระต้องอาศัยระเบียบวินัยในตัวเองสูง คุณไม่ควรไม่ใช่รายได้ทั้งเดือนไปกับรายจ่ายในทันที
4. ออมเงินเผื่อการดูแลสุขภาพ
แน่นอนว่าการทำงานฟรีแลนซ์ย่อมไม่มีประกันสุขภาพใดๆ มารองรับ หนทางในการเข้าถึงสิทธิ์ประกันสุขภาพจึงมีเพียงการซื้อประกันให้ตัวเอง หรือไม่ก็รอรับสิทธิประโยชน์จากคู่สมรสเท่านั้น คุณจึงต้องทุ่มเทนิดหน่อยในการศึกษารายละเอียดว่า มีประกันสุขภาพของบริษัทหรือองค์กรใดๆ ที่คุ้มค่าและสามารถเข้าถึงได้บ้าง
5. อย่าลืมว่าฟรีแลนซ์ก็มีวันเกษียณนะ
ชาวฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่เลือกหนทางนี้เพราะไม่อาจหาตำแหน่งงานในบริษัทที่เหมาะกับตัวเองได้ การทำงานอิสระจึงเป็นหนทางในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและเปิดประตูสู่โอกาสการทำงานใหม่ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่ฟรีแลนซ์ทุกคนที่จะเป็นศิลปินไส้แห้ง มีฟรีแลนซ์จำนวนไม่น้อยที่ออกมาทำงานอิสระระหว่างรอหางานประจำที่ใหม่ ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ชาวฟรีแลนซ์ทุกรูปแบบก็ต้องไม่ลืมนึกเผื่อวัยปลดเกษียณก่อนจะสายเกินไปด้วย การเปิดบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงปลอดภาษีก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน
จากงานวิจัยของฮาร์วาร์ด ในปี 2015 จำนวนผู้คนที่เกี่ยวข้องใน “สายงานทางเลือก” หรือคนทำงานโดยไร้สัญญาผูกมัดระยะยาวกับองค์กรทั้งหลาย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 เป็น 15.18 นอกจากนั้น Alan Krueger and Lawrence Katz นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันก็ยังพบว่ากว่าร้อยละ 94 ของงานที่ผุดขึ้นมาในช่วงปี 2005 ถึง 2015 ของสหรัฐฯ นั้นล้วนเป็นงานชั่วคราวทั้งสิ้น
สำหรับคนส่วนใหญ่ คงไม่มีใครอยากผัดผ่อนการเก็บออมเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณอยู่แล้ว และแน่นอนว่ามันยิ่งจำเป็นขึ้นอีกหลายเท่าตัวสำหรับคนที่เลือกเดินบนสายงานอิสระเช่นนี้
Source : huffingtonpost