เมื่อมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการติดต่อสื่อสารอย่างทันใจผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผู้คนต่างก็เริ่มเกิดแรงบันดาลใจในการออกจากงานประจำแล้วหันมาทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ แทน ลองนึกถึงภาพความกระตือรือร้นของผู้คนเหล่านี้เมื่อได้พบลูกค้ารายแรก ได้ขายของชิ้นแรก หรือเมื่อเริ่มเห็นบรรดาลูกค้าพูดถึงธุรกิจของพวกเขาเป็นครั้งแรก
แต่ไม่ว่าคุณจะมีความหลงใหลในธุรกิจของตัวเองมากแค่ไหน สุดท้ายแล้วความตื่นตาตื่นใจก็ต้องค่อยๆ ลดหายไปอยู่ดี เนื่องจากอายุของการทำงานนั้นทั้งนานและหนัก ในขณะที่ผลตอบแทนอาจจะไม่มากอย่างที่คิด แน่นอนว่าการยอมรับความพ่ายแพ้ การล้มเลิกหรือเปลี่ยนทิศทางใหม่นั้นเป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มรู้สึกแบบนี้ขึ้นมา นั่นแปลว่าคุณได้เข้าสู่ช่วง “ภาระงานอันหนักหน่วง” ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเผชิญกับสภาวะนี้ตอนที่ต้องคอยตอบสนองความต้องการของธุรกิจวันแล้ววันเล่าจนกระทั่งไม่สามารถกระดิกตัวไปไหนได้เลยนั่นเอง
ภาระงานอันหนักหน่วงนี้มักทำให้คุณเหนื่อยล้าจากความยากลำบากที่ถาโถม มันสามารถบั่นทอนทุกอณูของจินตนาการ ความมุ่งมั่น และทักษะการทำงานของคุณได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญคือผู้ประกอบการหลายคนมักพลาดสะดุดล้มในสภาวะที่ว่านี้ได้อย่างง่ายดาย เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้เตรียมตัวที่จะเผชิญหน้ากับมันมาก่อน
ทั้งนี้ คุณสามารถหลีกเลี่ยงภาระงานที่กินแรงคุณเยี่ยงทาสนี้ได้ หากนำวินัยทั้ง 5 ข้อต่อไปนี้มาประยุกต์ใช้กับตัวคุณเอง
1. ระวังคำพูดให้ดี
หากคุณลองนึกถึงวันที่เลวร้ายที่สุด ที่คุณรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในหล่มที่บังคับให้คุณต้องทำงานหนักมากๆ แล้วจะพบว่าคำพูดของคุณส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในแง่ลบแทบจะทั้งนั้น คุณอาจพูดว่า “ไม่น่าทำแบบนั้นเลย” หรือ “ไม่มีทางทำได้แน่ๆ” เนื่องจากสภาวะเหล่านี้ล้วนบั่นทอนการมองโลกในแง่ดีของคุณเสมอ
ดังนั้น เมื่อคุณสามารถฝึกตนเองให้พูดแต่สิ่งที่ดีออกมาได้ แม้แต่ในเวลาเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย คุณจะสามารถลดระดับความสิ้นหวังที่กำลังบ่อนทำลายคุณได้ในทันที และหากคุณสามารถเปลี่ยนคำว่า “ไม่น่าเลย” มาเป็น “ครั้งหน้าจะต้องทำได้แน่ๆ” รับรองว่าหนทางข้างหน้าจะดูราบรื่นขึ้นกว่าเดิมมาก การเลือกคิดและเลือกคำที่ใช้ในแต่ละวัน ล้วนช่วยเสริมสร้างพลังงานเชิงบวกซึ่งจะกลายมาเป็นแรงผลักดันให้คุณข้ามผ่านวันอันเลวร้ายไปได้
2. เป็นนายของเวลา
สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าให้อภัยเมื่อตกอยู่ในสภาวะนี้ก็คือ ‘ตารางเวลา’ ไม่ว่าจะเป็นกำหนดการประชุม เดดไลน์งาน หรือรายการสิ่งที่ต้องทำที่ยาวเป็นหางว่าว ถ้าหากคุณไม่สามารถควบคุมและจัดสรรเวลาเหล่านี้ได้ พวกมันจะกลายเป็นฝ่ายที่ควบคุมคุณแทน และนี่เป็นสองวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณจัดการตารางเวลาเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีแรก คือจำกัดเวลาในการทำงานไว้ คุณอาจรู้สึกว่าไม่สามารถเสียเวลาได้แม้แต่ชั่วโมงเดียว เพราะแน่นอนว่าปัญหาเรื่องเวลาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานคนเดียวนั้นเป็นเรื่องใหญ่ แต่ขอให้รู้ไว้ว่าการใช้เวลาทั้งหมดไปกับการทำงานนั้นจะยิ่งทำให้คุณเสียเวลาไปกับสิ่งเร้าต่างๆ นานายิ่งกว่าเดิม ดังนั้น ทางที่ดีคือควรจัดสรรเวลาที่แน่นอนให้กับการทำงาน โดยในเวลานั้นโฟกัสกับงานเต็มที่ และใช้เวลาที่เหลือให้เกิดประโยชน์ที่สุด ที่สำคัญคือให้ถือว่าช่วงเวลาหลังจากงานคือการพักผ่อนร่างกายและสมอง
วิธีที่สอง คือการทำรายการสิ่งที่ต้องทำในทุกๆ คืนก่อนเข้านอน ในหนังสือ How Successful People Think มีบทหนึ่งที่มีเนื้อหากล่าวโดยย่อได้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดถึงวันพรุ่งนี้ในคืนก่อนหน้า คุณก็จะตื่นขึ้นมาพร้อมรับความสำเร็จในวันนั้นได้เลย
3. ตั้งเป้าหมายในการเติบโต
สิ่งที่คุณควรทำก็คือ กำหนดเป้าหมายให้กับงานหรือธุรกิจของคุณ เป็นคนตัดสินใจว่าต้องการที่จะประสบความสำเร็จ มากแค่ไหนก่อนที่ตลาดหรือผู้คนจะมาตัดสินใจแทนคุณ
ถ้าหากต้องการให้การงานหรือธุรกิจเติบโตล่ะก็ คุณจะต้องเติบโตในฐานะปัจเจกด้วย อาจทำได้โดยการอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ทำ เข้าฟังการประชุม การจัดแสดงงาน การสัมมนา เวิร์คช็อป หรืออาจลงเรียนคอร์สออนไลน์ของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือก็ได้ ที่สำคัญคือขอให้ทำอะไรก็ได้ที่จะช่วยให้คุณยังคงความหลักแหลมเอาไว้ และเมื่อตัวคุณเองเติบโตขึ้นแล้ว ธุรกิจของคุณก็ย่อมเติบโตตามไปด้วยเช่นกัน
4. สร้างเครือข่ายสังคม
ผู้ประกอบการที่เจอปัญหาภาระงานมากๆ มักจะตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวเสมอ เมื่อไหร่ที่คุณต้องรับผิดชอบงานทุกอย่างตั้งแต่การขายไปจนถึงการทำความสะอาด ชีวิตในฐานะผู้ประกอบการของคุณก็อาจนับได้ว่าเป็นความเปล่าเปลี่ยวได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าหากต้องการจะหลุดพ้นออกไปจากหล่มที่น่าหดหู่แห่งนี้ ก็ควรที่จะติดต่อเชื่อมโยงกับผู้คนดูบ้าง กล่าวคือ คุณจะต้องพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่จะต้องพบปะกับผู้คนอื่นๆ นั่นเอง
คุณควรหาโอกาสไปร่วมงานต่างๆ ทั้งงานสัมมนา งานประชุม งานพบปะสังสรรค์ขององค์กรธุรกิจดูบ้าง อย่างน้อยก็เดือนละครั้งก็ยังดี คุณจะได้พบเจอผู้คนที่น่าสนใจมากมาย ขณะเดียวกันก็ได้สร้างเครือข่าย เพื่อน ทีมงาน หรือแม้แต่พาร์ทเนอร์ก็เป็นได้
5. ฉลองให้กับความสำเร็จที่ได้มา
ผู้คนมักจะติดอยู่กับความสำเร็จจากการบรรลุเป้าหมายจนไม่แม้แต่จะคิดหยุดพักเพื่อฉลองให้กับความสำเร็จเหล่านั้นเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถือว่าติดกับเข้าอย่างจัง
ลองเปลี่ยนมาดื่มด่ำกับช่วงเวลาแห่งความสำเร็จเสียบ้าง หรือถ้าเดดไลน์อยู่ตรงหน้า อย่างน้อยก็ให้เวลาตัวเองได้สัมผัสกับความปีติอย่างน้อยสักห้านาทีก็ยังดี และถ้าหากว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ ก็ให้พาครอบครัวหรือเพื่อนไปฉลองบ้าง นอกจากนี้ แม้แต่ความสำเร็จเล็กๆ ในชีวิตประจำวันก็ไม่ควรถูกมองข้ามไป อาจให้รางวัลตัวเองเล็กๆ ด้วยการพักเบรกจิบกาแฟก็ได้เช่นกัน
“สิ่งที่คุณทำสำเร็จได้ด้วยตัวเองหลังจากที่มืดมนมานานแสนนาน ล้วนแต่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จอันแท้จริง”
ในช่วงแรกเริ่ม งานมักราบรื่นเพราะมีแสงทองคอยส่องนำทางให้ แต่เมื่อไหร่ที่แสงนำทางจางหายไป แล้วพบพานกับความยากลำบากมืดมนหนทาง สิ่งนี้แหละที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จของคุณได้เป็นอย่างดี สถานการณ์ยากลำบากคือตัวตัดสินว่าคุณจะแพ้หรือชนะ แต่หากว่าคุณมีวินัยในสิ่งที่พูด สิ่งที่ทำ รวมถึงมีวินัยในการเติบโตและสร้างเครือข่ายผู้คนที่คุณติดต่อด้วยแล้วล่ะก็ คุณจะสามารถเฉลิมฉลองความสำเร็จไปพร้อมๆ กับการเติบโตไปสู่องค์กรที่เจริญรุ่งเรืองได้
Source : Success