คนเราทุกคนย่อมต้องเคยเผชิญหน้ากับความเหงา แต่ในประเทศไทย ความเหงายังเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่นัก ขณะที่ประเทศอังกฤษ ถึงกับมีการก่อตั้ง ‘กระทรวงความเหงา’ ขึ้นมา เพื่อประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความเหงาโดยเฉพาะ ความเหงาเป็นสาเหตุของอาการป่วยทางจิต นี่จึงเป็นประเด็นปัญหาที่ควรตระหนักถึง แต่ทุกวันนี้หลายๆ คนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเหงาอยู่มาก เช่น 5 ข้อยอดนิยมต่อไปนี้
1) ความเหงาคือความโดดเดี่ยว
ความเหงาไม่ได้หมายความว่าคุณโดดเดี่ยวเสมอไป แต่เป็นความรู้สึกของการไม่ได้เชื่อมต่อกับใคร ไม่มีคนรอบข้างคนไหนเลยที่เข้าใจคุณ หรือมีบทสนทนาที่มีความหมายต่อคุณจริงๆ ความโดดเดี่ยวจึงเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหงาเท่านั้น คุณอาจรู้สึกเหงาได้แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย เหมือนกับที่คุณอาจรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขเมื่อได้อยู่ลำพัง จากผลโพลของบีบีซีในปี 2559 พบว่า 5 กิจกรรมพักผ่อนยอดนิยมล้วนเป็นกิจกรรมที่ต้องทำคนเดียว
บางครั้งที่เราไม่อาจใช้เวลากับผู้คนที่เข้าใจเราได้ นั่นล่ะคือช่วงเวลาที่ความเหงาจะโจมตีคุณ
2) ความเหงากำลังแพร่ระบาดมากในปัจจุบัน
จริงๆ แล้ว จำนวนผู้คนทุกข์ทรมานจากความเหงาในปัจจุบันแทบไม่แตกต่างกับเมื่อหลายปีที่แล้ว
คริสตินา วิคเตอร์ (Christina Victor) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบรัสเซลพบว่า จำนวนผู้สูงอายุที่มีความเหงาเรื้อรัง หรือ ผู้ที่บอกว่าตนเองรู้สึกเหงาอยู่ตลอดเวลานั้น จำนวนจะอยู่ในอัตราคงที่ที่ 6-13% มาเป็นระยะเวลากว่า 70 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามจำนวนคนเหงาย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลกในปัจจุบัน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันนำมาซึ่งอาการเศร้าอย่างมหาศาลแน่นอน
3) ความเหงาเป็นสิ่งไม่ดี
ความเหงาทำให้เราเจ็บปวด แต่มันก็ไม่ได้อยู่ถาวร อย่ามองความเหงาในแง่ลบไปเสียหมด เพราะบางครั้งมันก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องหาเพื่อนใหม่หรือพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีให้ดีขึ้น จอห์น แคชออปโป (John Cacioppo) นักประสาทวิทยาสังคมชี้ว่า ความรู้สึกเหงาเป็นกลไก การเอาตัวรอดของมนุษย์เพื่อกระตุ้นให้เรารักษาความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ เอาไว้ เช่นเดียวกับที่เราถูกกระตุ้นให้ดื่มน้ำด้วยความกระหาย
อย่างไรก็ตาม ความเหงาเรื้อรังก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและจิตได้ มันอาจทำให้คุณหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ซึ่งยิ่งเพิ่มพูนความเหงาทับถมเข้าไปอีก และยังมีงานวิจัยพบว่าความเหงาทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าด้วย
4) ความเหงาทำให้สุขภาพแย่
มีงานวิจัยที่พบว่าความเหงาอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ถึงสามเท่า นอกจากนั้น คนเหงายังมีความดันเลือดสูงและอายุขัยโดยเฉลี่ยต่ำกว่าคนทั่วไปด้วย กระนั้น อาการเหล่านี้ก็สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุปัจจัย เราจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าความเหงาเป็นต้นตอหลักจริงหรือเปล่า ความเหงาหรือความเศร้าอาจทำให้สุขภาพทรุดโทรมหรือขาดแรงผลักดันในการดูแลตัวเอง แต่ในทางกลับกันปัญหาทางสุขภาพก็อาจทำให้เราไม่อยากเข้าสังคมได้เหมือนกัน
5) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะเหงา
ความเหงาพบได้ในหมู่ผู้สูงอายุมากกว่าผู้ใหญ่ แต่จากงานวิจัยของพาเมล่า ควาลเตอร์ (Pamela Qualter) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์กลับพบว่าวัยรุ่นต่างหากที่ต้องเผชิญความเหงาอย่างรุนแรง ในขณะที่ 50-60% ของผู้สูงอายุนั้นไม่ค่อยรู้สึกเหงาเท่าไหร่นัก
Source : BBC