
มหาตมะ คานธี เคยกล่าวไว้ว่า “การให้อภัย คือ คุณลักษณะของความเข้มแข็ง” อาจจะเป็นเพราะว่าการให้อภัยนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบางการกระทำดูไม่ควรค่าพอแก่การให้อภัยเอาเสียเลย แต่ยังไงมันก็คุ้มค่าที่จะทำ อย่างที่งานวิจัยทางจิตวิทยาเชิงบวกในหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ค้นพบว่า การให้อภัยช่วยเยียวยาการอาการซึมเศร้า วิตกกังวลและโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจได้
การให้อภัยช่วยให้ค้นพบกับความสงบในจิตใจ และกระทั่งพัฒนาสุขภาพร่างกาย เนื่องจากว่าการให้อภัยนั้นไม่ใช่การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้นจากการกระทำผิด แต่มันคือการผ่อนน้ำหนักของความรู้สึกแย่ที่พวกเขาฝากไว้กับคุณ
แล้วคุณละพร้อมหรือยัง? ดร.โรเบิร์ต เอ็นไรท์ (Robert Enright) ผู้ก่อตั้งสถาบันการให้อภัยนานาชาติ (The International Forgiveness Institute) ในเมดิสัน มลรัฐวิสคอนซิน และเป็นศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้เขียนหนังสือเรื่อง Forgiveness is a Choice ซึ่งแบ่งขั้นตอนการให้อภัย ออกเป็น 4 ขั้นดังนี้…
1. จงเผยตัวตนออกมา
จงซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อความรู้สึกโกรธ ความเจ็บปวด และประเมินความเสียหายที่ความอยุติธรรม ได้ส่งผลต่อชีวิตของคุณ หากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ทำคุณเติบโตมาด้วยความรู้สึกไร้ค่า แล้วทุกวันนี้คุณยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่ไหม? คุณโหยหาความรักหรือการยอมรับในทางที่ผิดหรือเปล่า?
2. จงกล้าตัดสินใจ
คุณต้องตัดสินใจให้อภัยแก่คนที่ทำให้คุณเสียใจ และปล่อยวางความเคียดแค้นนั้นไปซะ หากเพื่อนร่วมงานขโมยไอเดียหรือคำพูดของคุณไป แต่ไม่ยอมให้เครดิตแก่คุณเลย ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีรับมือกับคนพวกนั้น เพราะในระยะยาว ความรู้สึกด้านลบและความโกรธไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตคุณดีขึ้นเลย
3. จงพยายามให้มาก
แน่นอนว่าเราต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงจะเห็นอกเห็นใจและเข้าใจคนที่ทำให้เราเสียใจได้
เอ็นไรท์แนะนำว่า คุณควรตั้งคำถามกับตนเอง เช่น คนคนนี้เติบโตขึ้นมาอย่างไร? เขามีบาดแผลทางใจอะไรอยู่หรือเปล่า? เพราะความเครียดหรือกดดันหรือเปล่า ที่เป็นสาเหตุให้เขาทำร้ายจิตใจคุณ? นึกถึงสิ่งเล็กๆ น้อยที่คุณอาจให้คนคนนั้นได้ ไม่ว่ารอยยิ้ม การทักทาย การรับสายโทรศัพท์ หรือแค่อดทนให้มากขึ้นในครั้งต่อไปที่เจอกัน จำไว้ว่า การให้อภัยกับการประนีประนอมนั้นไม่เหมือนกัน หากคุณต้องทนกับความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรง การให้อภัยก็ไม่น่าใช่สิ่งที่ควรทำนักเช่นกัน
4. ค้นหาความหมายของสิ่งที่พบเจอ
จงค้นหาความหมายและจุดประสงค์ของเรื่องราวที่ต้องประสบ คุณจะช่วยคนที่กำลังเจ็บปวดได้อย่างไร? เช่น หากคุณตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติ คุณอาจเลือกลุกขึ้นสู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น เอ็นไรท์กล่าวว่า เมื่อคุณปล่อยวาง คุณจะได้พบว่า “หากเรามอบความเมตตา เอื้ออาทร และความรัก ให้แก่ผู้อื่น เราเองก็จะได้รับการเยียวยาเช่นกัน”
Source: Success