
การเป็นผู้ประกอบการ หมายความว่าคุณจะต้องเจอทั้งการสะดุดล้ม ความผิดพลาด และต้องเรียนรู้จากมันให้ได้ แม้ว่าประสบการณ์จะเป็นครูที่สอนเราได้ดีที่สุดก็ตาม แต่ก็มีบทเรียนอีกมากมายที่คุณเรียนรู้โดยไม่ต้องล้มเหลวหรือเจ็บปวดด้วยตัวเองได้ มาดูกันว่าบทเรียนที่ผู้ประกอบการหลายคนได้เรียนรู้นั้นมีอะไรบ้าง
1. การะดมทุนและบริหารเงิน
บางคนอาจมองเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากเลยล่ะที่เริ่มทำกิจการโดยที่ไม่รู้วิธีจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น Kamil Faizi นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ที่ไม่รู้วิธีการระดมทุนในตอนที่เขาก่อตั้งบริษัท Challenge Coins 4 U ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสิงค์โปร์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการขาย เขาบอกว่า “ในตอนนั้นผมน่าจะรู้วิธีหาเงินทุนเอาไว้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราเลยใช้วิธีค่อยๆ สะสมจากยอดขายที่ได้แทน”
Leticia Mooney ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Brutal Pixie บริษัทสัญชาติออสเตรเลียที่ให้บริการที่ปรึกษาทางด้านนโยบาย กล่าวเช่นกันว่า เธอน่าจะรู้เรื่องบัญชีให้เร็วกว่านี้ เธอจึงได้รับบทเรียนนี้มาด้วยความยากลำบาก และยังคงต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ด้วยไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานด้านการเงินมาก่อน เธอแนะนำว่า ถ้าผู้ประกอบการทุกคนให้ความสนใจศึกษาด้านวิธีระดมทุนและการหาแหล่งทุนตั้งแต่แรก ธุรกิจต่างๆ น่าจะประสบความสำเร็จกันมากกว่านี้
2. การเป็นผู้นำและทำงานเป็นทีม
Jason Acidre ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท Xight Interactive บริษัทเอเจนซี่ด้านการตลาดดิจิตอล ในกรุงมะนิลาซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นเขาเองก็มีความรู้ด้านการบริหารจัดการเป็นทุนเดิมแล้ว แต่นั่นก็มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ เขาเลือกที่จะรับจัดการด้วยตัวเองแทบทุกเรื่อง เพราะไม่รู้วิธีมอบหมายงาน อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในฐานะผู้นำองค์กร คุณต้องรู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เขากล่าว “จงตั้งใจและทุ่มเทพลังทำงานในด้านที่จะส่งผลดีต่อทั้งลูกค้าผู้ใช้บริการ ทีมของคุณ รวมไปถึงตัวคุณเองให้มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและขยายได้อย่างแท้จริง ซึ่งหมายความว่า คุณต้องเชื่อใจที่จะมอบหมายงานที่ตัวเองไม่มีเวลาทำให้พวกเขารับผิดชอบให้ได้ และต้องมั่นใจด้วยว่าสมาชิกแต่ละคนในทีมจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
3. ไม่ยึดติดกับหลักการเดิมๆ
Liam McCance ทำงานในอุตสาหกรรมด้านโฆษณามา 12 ปี ซึ่งสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานก็คือ การตอกบัตรในเวลาที่กำหนด วันทำงานที่แสนยาวนาน และการคำนวณวันหยุดนั่นเอง โดยเขาได้เผยว่า “ผมรู้สึกว่ากิจวัตรที่เคร่งครัดแบบนี้ทำให้เราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และสมาชิกทีมก็ไม่มีโอกาสที่จะเติบโตมากนัก” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงอยากให้บริษัทของตัวเองซึ่งมีชื่อว่า Subscribe to Food มีบรรยากาศการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม
“เรามีพื้นที่สำนักงาน แต่เราก็ยืดหยุ่นให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ด้วยนโยบายลาได้ไม่จำกัดครั้ง รวมถึงสิทธิพิเศษเป็นการทานอาหารและไวน์ชั้นดี นโยบายที่น่าสนใจนี้ดึงดูดผู้คนมากมายที่มีพรสวรรค์ เต็มใจที่จะทำงานหนักและทดลองทำในสิ่งใหม่ การทำธุรกิจใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องยึดตามหลักการที่ทำต่อๆ กันมา แต่จงสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สะท้อนตัวตนของบริษัทอย่างแท้จริงออกมา” McCance กล่าว
4. กำหนดวัตถุประสงค์ในการทำงาน
Pragya Agarwal ซึ่งเป็นผู้ประกอบการชาวอังกฤษเจ้าของบริษัท Hedge and Hog Prints ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญทั้งในการนำเสนอจุดขาย การมองหาช่องว่างในตลาด หรือแม้แต่ตลาดเป้าหมายเลย โดยในตอนแรกตั้งบริษัท เธอมีวิธีคิดที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน อย่างที่เล่าไว้ในบล็อกของเธอภายหลังว่า “ฉันผลิตภาพพิมพ์ยาง ก็เลยคิดว่าคนที่รักศิลปะและการพิมพ์ภาพจะชื่นชอบผลงานของฉัน”
แต่ทว่า เมื่อธุรกิจของเธอเติบโตและขยายตัว มันบีบบังคับให้เธอต้องกลับมาประเมินการทำธุรกิจของตัวเองเสียใหม่ และจริงจังกับทิศทางของธุรกิจให้มากขึ้น เธอกล่าวว่า “จากประสบการณ์ส่วนตัวของฉัน การเริ่มต้นที่ดี คือต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของคุณให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น ช่วงวัย สถานะทางการเงิน เพศ ความสนใจ และสิ่งสำคัญที่สุด อะไรคือสิ่งที่กระตุ้นให้พวกเขาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของคุณ”
Source: Inc-asean