
คำถาม: ฉันมักจะถูกรบกวนจนเสียสมาธิได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเกิดจากเพื่อนร่วมงานมาชวนคุย หรืออ่านเจอโพสต์ที่น่าสนใจบนเฟซบุ๊ค ฉันควรจะฝึกการตั้งสมาธิอย่างไรดี?
ตอบ: สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว สมาธิมักไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่เป็นทักษะที่จะต้องเรียนรู้ ขัดเกลา และฝึกฝน โดยเราสามารถฝึกได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะการตั้งสมาธิของตัวเอง
- ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะยอมทุ่มเทเวลาและกำลังให้กับการฝึกฝนการตั้งสมาธิ
- ฝึกฝนและขัดเกลาความคิดและจิตใจ
- นำทักษะที่เพิ่งได้รับมาใหม่นี้ มาใช้งานจริง และฝึกฝนจนกลายเป็นกิจวัตร
ขั้นตอนแรก คือการตระหนักรู้ว่าความสามารถในการตั้งสมาธิของคุณอยู่ในระดับไหน?
จอน วิศวกรเครื่องกลผู้ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบเครื่องแลกเปลี่ยนพลังงานความร้อน การออกแบบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เหล่านี้นับว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากทีเดียว
เขาจะต้องทำความเข้าใจกับอุปกรณ์กว่า 400 ชิ้นเพื่อที่จะสร้างเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าออกแบบไม่ดี ย่อมหมายถึงเขาไม่สามารถเครื่องจักรนั้นได้แน่ๆ โดยขั้นตอนการสร้างนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสนใจกับข้อมูลเป็นพิเศษ แม้ว่าเขาจะได้รับการฝึกฝนมาเพื่องานออกแบบเครื่องจักรโดยเฉพาะ และเขาก็มักจะทำมันออกมาได้ดีอยู่เสมอ เขากล่าวว่าในช่วงแรก เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะเขาตั้งสมาธิไม่ได้เลย ในขณะที่เขากำลังออกแบบเครื่องจักรอยู่ จอนมักถูกรบกวนโดยเพื่อนร่วมงานบ้าง โทรศัพท์มือถือบ้าง อีเมลบ้าง หรือไม่ก็พัสดุที่เพิ่งส่งมาถึง
เขารู้ว่า ถ้าตัวเองไม่สามารถทำงานออกมาให้ได้ดีอย่างที่ควร อาจส่งผลต่ออนาคตในหน้าที่การงาน รวมถึงรายรับ และความพึงพอใจในภาพรวมชีวิตของเขาได้ เขาจึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขมัน
ก่อนจะเริ่มการพัฒนา คุณควรจะเขียนรายการประเมินความสามารถในการตั้งสมาธิของตัวเองเสียก่อน ซึ่งจอนก็ได้รับการแนะนำให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจธรรมชาติของการตั้งสมาธิมากขึ้น
- ในแต่ละวันคุณสามารถตั้งสมาธิได้นานแค่ไหน?
- คุณจัดลำดับความสำคัญของงานได้ดีแค่ไหน?
- ในแต่ละวันคุณสูญเสียเวลาไปเท่าไหร่กับสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวนทั้งหลาย?
การทำความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ คือก้าวแรกที่คุณจะต้องทำ ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ได้มองการตั้งสมาธิว่าเป็นทักษะการวางแผน พวกเขาจึงไม่ค่อยสนใจที่จะประเมินความสามารถของตนเองในเรื่องนี้มากนัก และเมื่อคุณไม่ถือว่ามันเป็นเรื่องของการวางแผน การจะลดความสำคัญของมันลงย่อมเป็นเรื่องง่าย จนกระทั่งในที่สุดแล้วคุณก็จะไม่สนใจมันอีกต่อไป
ความสามารถในการหลีกเลี่ยงและกำจัดสิ่งล่อตาล่อใจอาจนำไปสู่ความสามารถในการตั้งสมาธิได้
ความสามารถในการตั้งสมาธิของคุณได้รับอิทธิพลมาจากความสามารถในการหลีกเลี่ยงและกำจัดสิ่งเร้านั่นเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่ยอมปล่อยให้อะไรก็ตามเข้ามาในหัว แล้วพาคุณหันเหไปไกลจากงานที่กำลังทำอยู่ คุณจะถูกรบกวนจนขาดสมาธิทันที แต่ไม่ต้องห่วง การเสียสมาธินั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ
และในการที่จะประเมินว่าคุณสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งสำคัญได้มากเท่าไหร่ ขอให้คุณได้ลองทำบันทึกประจำวันเป็นเวลาสักสองอาทิตย์ดู สิ่งที่ต้องทำมีเพียงแค่บันทึกสิ่งที่ทำในแต่ละวัน จัดลำดับความสำคัญ และเขียนสิ่งที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จในวันนั้นๆ ลงไป จากนั้นก็เป็นรายการสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นทั้งหมด โดยเฉพาะสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวน รวมถึงระยะเวลาที่คุณเสียไปกับสิ่งเหล่านั้นด้วย หากคุณสามารถทำบันทึกนี้เป็นเวลาสองสัปดาห์ได้ คุณจะสามารถมองเห็นชีวิตและความสามารถในการตั้งสมาธิของตัวเองรวมถึงสิ่งที่ควรปรับปรุงได้อย่างชัดเจน
เมื่อทำบันทึกเสร็จแล้ว ให้ลองกลับมาดูว่าในแต่ละวันคุณเสียเวลาไปกับสิ่งเร้าเหล่านี้มากเท่าไหร่ ลองพิจารณาสิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรกๆ หลังจากนั้นก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณทำสิ่งเหล่านี้ไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้เองที่เป็นสิ่งเร้าหลักๆ ที่ทำให้ชีวิตคุณไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายอะไร แต่ถ้าหากว่ามันทำให้คุณสูญเสียความสามารถในการทำงานให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดล่ะก็ มันก็ย่อมจัดว่าเป็นสิ่งเร้าหรือสิ่งรบกวนทั้งนั้น หลังจากที่ทำบันทึกแล้ว คุณก็น่าจะมีข้อมูลเพียงพอในการทำความเข้าใจและตัดสินใจว่าคุณยังต้องพัฒนาทักษะในด้านนี้อีกมากแค่ไหน
Source : Success