ความโกรธเป็นธรรมดาของชีวิต แต่รู้ไหมว่ามันถือเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้าด้วย (ความโศกเศร้า ความกลัว อาการนอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร) “ถ้าคุณรู้ตัวว่าตัวเองมีนิสัยหงุดหงิด โมโหง่าย นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าได้” ดร. แครอล เอ. เบอร์สไตน์ แพทย์ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาจิตเวช จาก NYU Langone School of Medicine กล่าว
การรักษาโรคซึมเศร้าอาจช่วยบรรเทาความโกรธได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่คุณทำได้เพื่อลดผลกระทบจากความรู้สึกที่บีบเค้นและบางครั้งก็แสนอันตรายอย่างความโกรธได้ อย่างเช่น 13 วิธีที่เราได้นำมาแนะนำต่อไปนี
1. นับ 1 ถึง 10 (หรือ 100)
โธมัส เจฟเฟอร์สัน เคยกล่าวไว้ว่า…
“เมื่อรู้สึกโกรธ จงนับ 1 ถึง 10 ก่อนจะพูดอะไรออกมา แต่ถ้าโกรธมากๆ ก็ให้นับถึง 100”
คนที่กำลังโกรธจะถูกกระตุ้นได้ง่าย และมักจะเผลอหลุดพูดหรือทำในสิ่งที่ต้องเสียใจทีหลังเสมอ ดังนั้นลองนับเลขช้าๆ ถึงจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ให้รู้สึกว่าความดันและอัตราการเต้นของหัวใจเริ่มเป็นปกติ แล้วเวลาจะทำให้สิ่งเร้าอารมณ์เหล่านั้นหายไปเอง
2. ยกโทษให้
แม้ว่าคุณจะยังลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ การยกโทษให้อีกฝ่ายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการบรรเทาโทสะ เพราะคุณจะได้เลิกครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องแย่ๆ ที่เกิดซ้ำไปมา ไม่ต้องถึงขั้นมองว่าการกระทำของอีกฝ่ายไม่ใช่เรื่องแย่นะ เพียงแต่คุณไม่จำเป็นต้องไปโกรธแค้นฝังใจจนปล่อยให้มันมาบั่นทอนพลังชีวิตของตัวเอง
3. เบี่ยงเบนความสนใจตัวเอง
ลองให้คะแนนความโกรธในใจเป็นระดับ 1-10 หากความโกรธของคุณอยู่ในระดับที่ 5-10 คุณควรจะหาอย่างอื่นทำเพื่อให้ใจเย็นลงก่อนจะพยายามเจรจาหรือแก้ไขปัญหา เช่น วาดรูป ทำอาหาร เดินเล่น หรือ เล่นเกมเชาว์ปัญญาต่างๆ
4. สูดหายใจเข้าลึกๆ
การหายใจเข้าลึกๆ จะช่วยชะลออัตราการเต้นของหัวใจ และทำให้ใจที่เต็มไปด้วยความโกรธสงบลง ให้คุณหายใจลึกลงไปถึงกะบังลม ไม่ใช่แค่บริเวณทรวงอก พร้อมๆ กับฟังเพลงสบายๆ นอกจากนั้น การบริหารกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ ก็สามารถช่วยทั้งเรื่องการหายใจ และผ่อนคลายอารมณ์
5. ยอมรับว่าตัวเองกำลังโกรธ
ผู้ที่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังโกรธมีแนวโน้มที่จะระเบิดโทสะน้อยกว่า พวกเขามีนิสัยชอบครุ่นคิดเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ละเอียดอ่อนต่อสาเหตุและผลที่อาจตามมาจากอารมณ์เหล่านั้น ดังนั้น จึงรับมือกับความโกรธได้เร็วและมั่นคงกว่า ไม่ต้องพึ่งพาตัวช่วยเบี่ยงเบนความรู้สึก อย่าง สุรา หรือยาเสพติด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวคุณเอง
6. เขียนระบาย
การเขียนหรือจดบันทึกเปิดโอกาสให้คุณได้หยุดไตร่ตรองว่าจะทำอย่างไรกับความโกรธ จะโต้ตอบกับอีกฝ่ายอย่างไร สิ่งที่คุณจะทำหลังจากนั้นจึงไม่ใช่แค่ปฏิกิริยาที่มาจากอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกระทำที่ผ่านการคิดมาอย่างดีแล้ว
7. อย่าเหวี่ยง
แทนที่จะเหวี่ยงใส่คนรักว่าไม่ค่อยใส่ใจคุณ ลองเขียนระบายหรือหาอะไรทำให้ความโกรธทุเลาลงก่อน พอใจเย็นแล้วค่อยเข้าไปบอกคนรักว่าคิดถึง หรืออยากให้ทำกิจกรรมนู่นนี่ด้วยกันแทน การพูดจาอย่างมีเหตุผลมีแนวโน้มจะทำให้คุณได้รับผลลัพธ์อย่างที่ต้องการมากกว่า
8. ออกกำลังกาย
การเต้นแอโรบิค การเดิน หรือวิ่งจ็อกกิ้ง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการรับมือกับความโกรธ เพราะร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีน เลือดสูบฉีด เหงื่อออก และหายใจถี่ขึ้นเช่นเดียวกับปฏิกิริยาร่างกายตอนกำลังโกรธ เพราะงั้น ปฏิกิริยาเหล่านี้จึงไม่ถูกผูกไว้กับความโกรธอีกต่อไป และเราจึงบอกตัวเองได้ว่า ‘ที่เลือดสูบฉีดเร็วขึ้นก็เพราะวิ่งยังไงล่ะ’ นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยให้ร่างกายหลังสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกได้ดีขึ้นด้วย
9. ฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
หากคุณเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายได้ ก็ยากที่จะโกรธเขาลง การคิดแบบนี้จึงไปลดทอนความโกรธโดยปริยาย ในทางกลับกันหากอีกฝ่ายกำลังโกรธอยู่ ถ้าคุณแสดงความเข้าใจและเห็นใจออกไปผ่านคำพูด แทนที่จะต่อว่า สถานการณ์ก็อาจคลี่คลายลงด้วย
10. อย่าส่งข้อความตอนกำลังโกรธ
ถ้าคุณทนไม่ไหวจริงๆ ก็ให้เขียนแล้วเก็บไว้ในกล่อง draft ก่อนสักหนึ่งวัน แล้วค่อยตัดสินใจอีกทีว่าจะส่งดีไหม คุณจะได้มีเวลาเกลาเนื้อหาให้ดูมีเหตุผล ไม่เต็มไปด้วยอารมณ์ และอย่ากลัวที่จะบอกอีกฝ่ายว่า คุณต้องการเวลาอีกสักวันสองวันก่อนถึงจะกลับมาคุยเรื่องที่ขัดแย้งกันได้
11. ไม่ต้องฝืนรู้สึกขอบคุณอีกฝ่ายหรอก
แม้ว่าปัจจุบัน จะมีงานวิจัยมากมายที่เสนอว่า การรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ จะทำให้เรามีความสุขขึ้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องนำวิธีนี้มาใช้กับคนที่ทำให้คุณโกรธหรอก แต่ควรหันไปขอบคุณสิ่งอื่นๆ ในชีวิตมากกว่า เพื่อให้สุขภาพจิตและกายตัวเองดีขึ้น พร้อมรับมือกับเรื่องแย่ๆ ที่เข้ามา
12. อย่ารีบเคลียร์ปัญหากันทันที
สังเกตระดับความโกรธของตัวเองให้ดีก่อนจะตัดสินใจพูดเคลียร์กับอีกฝ่าย ไม่อย่างนั้นคุณและเขาอาจลงเอยด้วยการทะเลาะกัน การพูดคุยควรเกิดขึ้นเมื่อคุณมั่นใจว่าสามารถควบคุมโทสะตัวเองได้และสื่อสารกันได้โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาบานปลาย
13. สวดภาวนา
ข้อนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับทุกคน แต่ก็เคยมีการทดลองมาแล้วว่าคนที่สวดภาวนาให้คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้า คนที่ทำให้โกรธ หรือเพื่อน จะไม่ใช่คนโกรธง่ายเท่ากับคนทั่วไป ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม การภาวนาจะช่วยดึงความสนใจของคุณออกจะความคิดแย่ๆ และปลดเปลื้องความโกรธได้ แต่ถ้าคุณไม่ชอบวิธีการนี้ ก็ให้ใช้เวลาสัก 3-4 นาทีนึกถึงคนที่คุณโกรธ เผื่อคุณจะมองอีกฝ่ายในมุมใหม่ และยกโทษให้เขาได้
Source: Health