11 กลวิธีจัดการกับความเครียดให้อยู่หมัด!

2116

Kathleen Hall ผู้ก่อตั้งสถาบัน The Stress Institute ในแอตแลนตา ได้กล่าวว่า รากฐานของการจัดการกับความเครียดคือการทำความเข้าใจว่าความเครียดนั้นคือข้อมูลรูปแบบหนึ่งที่เราสามารถสำรวจตรวจสอบและใช้งานได้ โดยขั้นตอนแรกในการทำความเข้าใจข้อมูลที่ว่านี้ก็คือ การตระหนักถึงความเครียดที่มี รวมถึงผลกระทบของมันที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้

ถึงแม้ว่ารายละเอียดปลีกย่อยของเทคนิคในการจัดการกับความเครียดจะแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูล แต่ก็มักจะมีจุดร่วมที่เป็นวิธีหลักๆ อยู่ ซึ่งทั้ง 11 ข้อที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ถือได้ว่าเป็นวิธีจัดการกับความเครียดที่นิยมนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายมากเลยทีเดียว

1. หากคุณไม่สามารถเลี่ยงสถานการณ์ตึงเครียดได้ ก็ให้ลองค่อยๆ ปรับมันทีละนิด

วิธีนี้เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันของเรา อย่างเช่นแทนที่จะเก็บสะสมความรู้สึกต่างๆ เอาไว้ภายในตลอดทุกครั้ง ก็อาจลองเริ่มที่จะแสดงความรู้สึกอัดอั้นนั้นออกมาเสียบ้าง ปลดปล่อยความตึงเครียดทิ้งไป หมั่นประนีประนอมให้กับสถานการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้ และต้องเชื่อมั่นในตัวเองให้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ก็ควรจัดสรรชีวิตและแบ่งเวลาให้ดีขึ้นตามลำดับด้วย

2. หากคุณไม่สามารถเปลี่ยนสาเหตุของความเครียดได้ ก็ให้ปรับที่ตัวคุณเอง

ปรับมุมมองที่มีต่อปัญหาเสียใหม่ พยายามมองสถานการณ์ตึงเครียดนั้นในมุมมองเชิงบวกดู การพุ่งความสนใจไปที่ด้านบวกนั้นนับว่าเป็นวิธีที่ง่ายและสามารถช่วยให้คุณมองเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น

3. หยุดพักและพยายามถอยห่างจากต้นตอของความเครียด

มันอาจจะฟังดูเป็นเรื่องยากหน่อยที่จะต้องถอยให้ห่างจากสิ่งคุ้นชินมานาน อย่างเช่นพวกโปรเจคงานใหญ่ๆ หรือหนี้บัตรเครดิตที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่หากคุณยอมให้ตัวเองถอยออกมาจากพวกมันได้ล่ะก็ คุณอาจค้นพบมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยให้รู้สึกตึงเครียดน้อยลงก็เป็นได้ และการให้ตัวเองได้หยุดพัก หยุดคิดเรื่องเครียดๆ เพียงแค่ 20 นาที ก็สามารถช่วยลดความเครียดได้เช่นกัน

4. การหายใจให้ถูกวิธี สามารถลดและเยียวยาภาวะตึงเครียดได้

การหายใจเข้า-ออกเป็นห้วงสั้นๆ อย่างที่เราหลายคนมักทำกันเป็นปกตินั้นจะทำให้ร่างกายและสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินหายใจ และระบบหมุนเวียนเลือด

ดังนั้นเราจึงควรหันมาฝึกฝนการหายใจเข้าออกลึกๆเข้าไว้ เนื่องจากมันสามารถช่วยให้สมอง ร่างกาย และจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบายขึ้นได้

5. การฝึกให้ ร่างกาย ความคิดและจิตใจเกิดความสงบ ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีได้

หาสถานที่ที่เงียบสงบ วางตัวให้สบาย จากนั้นกล่าวประโยคหรือวลีที่ชอบสั้นๆ ประมาณ 1 – 5 คำซ้ำไปซ้ำมา หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ อาจจะตั้งเวลาไว้ประมาณ 10 นาที เพื่อให้สามารถผ่อนคลายโดยไม่ต้องมัวกังวลเรื่องเวลา การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนในการเยียวยาออกมาเพื่อให้เกิดการผ่อนคลายและสุขภาพที่ดี

6. พึงระวังการขจัดความเครียดอย่างผิดวิธี

พอเครียดๆ หลายคนก็หันไปกินให้เยอะๆ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่พึ่งพาสารเสพติด ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีแต่จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่ยิ่งขยายใหญ่จนทำให้สูญเสียการควบคุมไปได้ จึงเป็นการดีกว่าที่เราควรจะหลีกเลี่ยงวิธีที่พ่วงมาด้วยผลเสียเหล่านี้แต่เนิ่นๆ และมองหาหนทางที่เหมาะสมในการจัดการกับความเครียดแทน

7. การเขียนบันทึกช่วยได้

การบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงไปสามารถช่วยลดความเครียดได้ ด้วยการปลดปล่อยความกังวลหรือความคิดที่วิ่งวนอยู่ในหัวของคุณออกมา โดยที่ความกังวล ความหวัง หรือความฝันเหล่านี้จะถูกเคลื่อนย้ายออกมาไว้บนหน้ากระดาษที่คุณเขียนแทน

8. การคิดในเชิงบวก มีผลต่อสุขภาพของเรา

มีงานวิจัยที่ระบุว่า ทุกครั้งที่มีอารมณ์หรือความคิดเกิดขึ้นมา สารเคมีบางอย่างที่มีผลต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจจะถูกสร้างขึ้น แล้วปลดปล่อยเข้าสู่ร่างกายของเรา ดังนั้น การมีความคิดในแง่ลบต่อตนเองจึงอาจสร้างความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจได้ ขณะเดียวกันความคิดในเชิงบวกก็สามารถช่วยขจัดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้เช่นกัน

9. มิตรภาพ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสุขภาพกายและจิตใจที่ดีของเราได้

แม้มิตรภาพจะไม่ใช่ความร่ำรวยหรูหรา แต่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพของเรา รวมไปถึงสมดุลระหว่างงานกับการใช้ชีวิตของเราได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการปลีกวิเวกคนเดียวจะทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการมีอายุขัยสั้นอีกด้วย

10. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ

กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการลดและป้องกันผลกระทบจากความเครียดได้ ถ้าจะให้ดีก็ควรจัดสรรเวลาอย่างน้อยวันละ 30 นาทีในการออกกำลังกาย และอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้ได้รับออกซิเจนสูงสุด หรือที่เรียกว่า “การออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic Exercise)” สามารถช่วยยับยั้งความตึงเครียดได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อดูแลร่างกายดีแล้ว

การเริ่มต้นวันใหม่ให้ดีด้วยการทานอาหารเช้าเพื่อเพิ่มพลังงานแก่ร่างกายและสมอง ช่วยให้สมองสดใสปลอดโปร่งตลอดวันจากการที่ได้รับสารอาหารครบถ้วน ลดการรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและน้ำตาล และนอนหลับให้เพียงพอ เนื่องจากช่วงเวลาพักผ่อนที่พอเหมาะจะช่วยเพิ่มพลังให้ทั้งสมองและร่างกายได้ นอกจากนี้

ความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการนอนไม่พอก็อาจนำไปสู่ความเครียดได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถคิดอะไรได้อย่างเต็มที่เลย

11. ฝึกการตระหนักรู้ ด้วยการจับจ้องไปยังสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว

อาจลองสังเกตรูปทรง สี น้ำหนัก และสัมผัสของดินสอ หรือค่อยๆ ลิ้มรสชาติอาหารสักอย่างหนึ่ง เนื่องจากว่าการที่เรามีสติครบถ้วนสมบูรณ์นั้น มันจะนำไปสู่การผ่อนคลายได้

ขอให้รับรู้ไว้ว่าการจัดการกับความเครียดไม่ใช่สิ่งที่ใครทำแล้วจะได้ผลทุกคน เนื่องจากคนเราล้วนแตกต่างกัน การตอบสนองต่อความเครียดจึงมีความแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้ว การหาวิธีรับมือกับความเครียดในแบบฉบับของตัวเองให้ได้นี่แหละ ที่จะช่วยคุณให้สามารถรับมือพวกมันได้อยู่หมัดอย่างแท้จริง

 

Source : Success