บางคนมีทักษะความสามารถในการจัดการดูแลผู้คนติดตัวมาตั้งแต่เกิด พวกเขารู้วิธีส่งสารความคิด ของตนเองให้คนอื่นๆได้ โดยไม่ต้องตะโกนสั่งหรือบงการทิศทางการสนทนาเลย เรียกได้ว่า พวกเขาเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดีได้นั่นเอง
แต่ทักษะการสื่อสารที่ดีนั้นไม่สามารถสร้างกันได้ชั่วข้ามคืน หากจำเป็นต้องผ่านการวางแผน การเตรียมตัว และการฝึกฝนอยู่เสมอ ดังนั้นเราจึงมี 10 แนวทางที่ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารที่ดีมาให้กับคุณ มาดูกันว่าคุณจะอยากลองข้อไหนก่อน เป็นอันดับแรก
1. พูดในสิ่งที่มีประโยชน์กับผู้ฟัง
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บรรยายหรือเข้าร่วมการเสวนาอะไรก็ตาม จงเลือกพูดหนึ่งอย่างที่คิดว่ามีคุณค่า ให้คนฟังจะสามารถนำกลับไปใช้ได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากเวลาพูดวิจารณ์ หรือแย้งความคิดของผู้อื่น เพราะไม่งั้นมันจะเป็นเพียงการวิจารณ์ที่ไม่ก่อประโยชน์ และเป็นเพียงการแสดงความไม่เห็นด้วย เท่านั้น
2. เป็นผู้ฟังที่ดี
การเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักเลยทีเดียว อย่าตั้งเป้าหมายในการเป็นเพียงแค่ผู้พูด เพียงอย่างเดียว ขณะที่บทสนทนากำลังดำเนินอยู่ จงฟังและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของตัวเองไปด้วย คนเราจะรู้สึกอยากรับฟังมากขึ้นก็ต่อเมื่อเชื่อว่ามีคนที่กำลังรับฟังเขาอยู่ด้วยเช่นกัน
3. เลือกเวลาพูดให้เป็น
วิธีที่จะทำให้มั่นใจว่าคนอื่นรับฟังสิ่งที่คุณพูดในวงสนทนาไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ คือการเลือกช่องว่างเหมาะๆ ในการพูดแทรกเข้าไปในบทสนทนา ยิ่งเลือกเวลาเหมาะเจาะเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้คุณสามารถสื่อสารจะไปถึงผู้รับได้อย่างครบถ้วนโดยไม่ถูกขัดจังหวะ
4. นำวงสนทนาให้ไปในทิศทางเดียวกัน
การพูดหารือกันอาจจะยืดเยื้อและวนไปวนมา ดังนั้น คุณควรเป็นคนเริ่มสรุปประเด็นความคิดดีๆ จากวงสนทนานั้น เพื่อช่วยให้ผู้สนทนาได้หยุดคิดกันก่อน แล้วเมื่อนั้นคุณจะสามารถเสริมความคิดเห็นให้คนอื่นคล้อยตามได้ ซึ่งถ้าพวกเขาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากเท่าไหร่ นี่ยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเท่านั้น
5. ตอบให้กระชับฉับไว
ในวงสนทนาควรจะตอบให้สั้นและเข้าใจง่ายไว้ก่อน มันแสดงให้เห็นว่าคุณเคารพเวลาของผู้อื่น การตอบคำถามยืดยาวแบบน้ำไหลไฟดับคือความไม่เกรงใจคนอื่น ทั้งยังทำให้พวกเขาหมดความสนใจในสิ่งที่คุณพูดด้วย คำตอบที่สั้น ตัดตรงเข้าประเด็น ช่วยให้สิ่งที่คุณอยากพูดบรรลุตามจุดประสงค์และถูกจดจำ
6. อย่าวิจารณ์ไปเสียทุกเรื่อง
คุณจะเป็นที่เคารพในกลุ่มสนทนามากขึ้นถ้าหากคุณรู้จักจังหวะที่ควรจะพูดหรือไม่พูด เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนมักจะไม่ค่อยใส่ใจกับคนที่ตอบโต้วิจารณ์ในแทบทุกเรื่อง แต่ในทางกลับกัน คนที่พูดน้อยมักจะต่อยหนักเสมอ คนจึงให้ความสนใจฟังมากกว่านั่นเอง
7. อย่าพูดเป็นน้ำท่วมทุ่ง
เวลาที่พูดในกลุ่ม คุณจำเป็นต้องใช้เวลาอันน้อยนิดที่มีในการพูดให้คุ้มค่าที่สุด นั่นหมายถึงคุณจะต้องเข้าประเด็นเลยทันทีในบริบทของกลุ่มสนทนา ใครก็ตามที่ชอบพูดแล้วติดลมมักจะทำให้คนอื่นหมดความสนใจ แถมบทสนทนาก็จะยืดยาวไม่ยอมจบ ดังนั้นจงตัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไปเสีย
8. เตรียมตัวก่อนพูด
การพูดในที่สาธารณะเป็นเรื่องยาก และคนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถพูดได้คล่องปรื๋ออย่างใจคิด ถึงอย่างนั้น คุณเองสามารถกล่าวปาฐกถาที่หนักแน่นและตรึงใจได้ หากคุณสละเวลามาเรียบเรียงประเด็นที่จะพูดให้ดี และฝึกฝนก่อนการพูดจริง ผลที่ได้ย่อมต่างจากการไม่ได้เตรียมตัวอย่างชัดเจน ดังนั้น จงคิดทบทวนเนื้อหาให้ดี รวมถึงวิธีในการพูดที่ดีและกระชับที่สุดด้วยล่ะ
9. มอบรอยยิ้ม
จงเป็นคนคิดบวก ถ้าคุณยิ้มและพยักหน้าไปตามเวลาที่ผู้อื่นพูด พวกเขาจะรู้สึกยินดีเปิดใจรับและให้คุณพูดด้วย แต่ถ้าพวกเขาเห็นว่าคุณไม่ตั้งใจฟัง แถมยังตั้งหน้ารอจะเป็นฝ่ายพูดเพียงอย่างเดียว พวกเขาก็จะไม่เคารพในตัวคุณเช่นกัน
10. ทวนคำพูดของอีกฝ่ายก่อนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ฟังอย่างเดียวคงจะไม่พอ ผู้นำที่ดีจำเป็นต้องแสดงให้ลูกทีมเห็นว่าหัวหน้าของพวกเขานั้นเข้าใจสิ่งที่แลกเปลี่ยนกันด้วย การพูดทวนความคิดของลูกทีมจึงถือเป็นการเช็คความเข้าใจให้ตรงกัน แล้วจึงตามด้วยการเสริมมุมของตนเองเข้าไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบทสนทนาที่สุด เพราะคนอื่นจะเปิดรับความคิดเห็นของคุณมากขึ้นได้เมื่อรู้สึกว่าคุณก็ให้เกียรติพวกเขาเช่นกันนั่นเอง
Source: Success