
เป็นเรื่องยากที่จะทำสิ่งใดก็ตามโดยปราศจากความตึงเครียดและอึดอัดใจ เพราะในความเป็นจริง เรามักจะทำอะไรได้ดีที่สุดในเวลาที่ออกมาจาก Comfort Zone ในระยะที่พอดี ถ้าคุณรู้สึกสบายใจเกินไปก็จะทำให้คุณเฉื่อยชาจนไม่เป็นอันทำอะไร และถ้าออกห่างจาก Comfort Zone มากเกินไปก็อาจสติแตกเพราะความเครียด
การจะแสดงศักยภาพสูงสุดของตนเองได้ต้องมาพร้อมกับการรู้สึกไม่ผ่อนคลาย การออกจาก Comfort Zone สามารถช่วยพัฒนาคุณได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นหวาดเสียวถึงขั้นไปปีนเขาเอเวอเรสต์หรอกนะ เรื่องท้าทายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนี่แหละที่จะส่งผลมากที่สุด และสิ่งที่คุณต้องทำก็เพียงแค่ลองก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองและอ้าแขนรับสิ่งที่ท้าทายในชีวิตเท่านั้นเอง
ตื่นเช้า
ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ชอบตื่นเช้า คุณอาจจะรู้สึกลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะทำตามข้อนี้ แต่เชื่อเถอะว่าการตื่นนอนเร็วนั้นคุ้มค่าแน่นอน มันจะเปิดโอกาสให้คุณได้จัดการความคิดและอารมณ์ของตัวเองให้พร้อมในวันนั้น แทนที่จะรีบร้อนทำงานนู่นนี่โดยไม่ได้พัก นอกจากนั้นมันยังทำให้คุณมีเวลารับประทานอาหารเช้าดีๆ รวมถึงได้ออกกำลังกายอีกด้วย
ทำเป้าหมายที่ “เป็นไปไม่ได้” ให้สำเร็จ
ความสุขจากการทำสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้จนสำเร็จนั้น คงหาอะไรมาเทียบทานได้ยาก คุณมักคิดว่าความสำเร็จที่อยู่ไกลจาก Comfort Zone เกินไปอาจดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ลองดูอย่างการวิ่งมาราธอนหรือการกล่าวเปิดงานในที่ประชุมดูสิ ความสำเร็จที่ได้รับหลังจากการทุ่มเทอดทนกับความเครียดเพื่อทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จ กลับทำให้คุณรู้สึกไร้เทียมทานและภูมิใจกับมันไปตลอดกาล
ฝึกสมาธิ
เป็นเรื่องง่ายที่คุณจะติดอยู่ใน Comfort Zone ของตัวเองในขณะที่คุณยุ่งมากเสียจนไม่มีเวลาพอจะมาคิดว่าจริงๆ แล้ว คุณกำลังทำอะไรอยู่? และทำเพราะอะไร? การฝึกสมาธิเป็นทางออกที่ดีเยี่ยมของปัญหานี้ แถมยังดีต่อสมองคุณอีกด้วย Sara Lazar นักประสาทวิทยาจากฮาวาร์ด พบว่าการฝึกสมาธิสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในสมองได้อย่างถาวร โดยมันจะเพิ่มความหนาแน่นของเนื้อสมองในบริเวณที่ทำหน้าที่ด้านการควบคุมตนเอง การใช้สมาธิจดจ่อ การแก้ปัญหา และการยืดหยุ่นปรับตัวกับปัญหา
ไม่ทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน
การทุ่มเทความตั้งใจให้เพียงงานๆ เดียวมีความเสี่ยงสูง เพราะมันเป็นงานที่คุณได้ทุ่มให้หมดตัวไปแล้วนั่นเอง แต่การทำหลายๆ งานไปพร้อมกันต่างหากที่เป็นตัวทำลายประสิทธิภาพของคุณ งานวิจัยจากสแตนฟอร์ดยืนยันว่าการทำงานหลายอย่างไปพร้อมกัน (Multitasking) จะได้ผลที่ไม่ดีเท่ากับการทำไปทีละอย่าง โดยพบว่าคนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารอิเล็คโทรนิคจากหลายๆ ทางจะไม่สามารถใช้สมาธิจดจ่อ จดจำข้อมูลต่างๆ หรือสลับมาทำงานอื่นได้ดีเท่าคนที่มักทำงานให้เสร็จไปทีละอย่าง ถ้าคุณพยายามทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน สมองของคุณจะไม่สามารถทำสำเร็จได้สักอย่าง การวิ่งไล่ตามสิ่งใดก็ตามที่ดึงดูดใจไปเสียหมดจะทำให้คุณสูญเสียโอกาสสำคัญในการพัฒนาตนเอง
งานอาสา
คงเป็นเรื่องดีมากถ้าคนไทยทุกคนช่วยเหลือกันด้วยความจริงใจ แต่พวกเราทุกคนล้วนมีสิ่งที่อยากทำและต้องทำเสมอ ปัญหาคือหลังเลิกงาน สิ่งที่เรานึกถึงน่ะไม่ใช่งานอาสา แต่เป็นการนั่งดูวิดีโอในยูทูปเสียมากกว่า งานอาสาเป็นประสบการณ์นำมาซึ่งความรู้สึกดีๆ รวมถึงเครือข่ายผู้คนที่กว้างขวางขึ้นด้วย
ฝึกพูดในที่สาธารณะ

คุณคงจะเคยได้ยินมาบ้างว่า คนส่วนใหญ่หวาดกลัวการพูดในที่สาธารณะมากกว่าความตายเสียอีก ชาวอเมริกันกว่า 74% ก็เป็นโรค Glossophobia หรือ โรคกลัวการพูดในที่สาธารณะนั่นแหละ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็คุ้มค่ามากเช่นกัน ไม่ว่าเป็นการพูดคุยตอนรับประทานอาหารกับคนห้าคนหรือพูดกับผู้ชมห้าพันคนก็แล้วแต่ การฝึกทักษะการพูดในที่สาธารณะจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับหน้าที่การงานของคุณด้วย
คุยกับคนที่ไม่รู้จัก
การพูดคุยกับผู้คนหน้าใหม่ๆ มักทำให้คุณรู้สึกอึดอัด เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นคนที่กล้าแสดงออกเอามากๆ แต่มันก็เป็นสิ่งที่คุณควรทำนะ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนส่งผลดีต่ออารมณ์ของคุณ (ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบก็ตาม) มันช่วยขยายเครือข่ายคนรู้จัก รวมถึงทำให้ค้นพบไอเดียใหม่ๆ และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย
อย่าพูดทุกสิ่งที่คิด
แน่นอนว่าบางครั้งการระบายความรู้สึกข้างในให้คนอื่นฟังทำให้รู้สึกดีมากๆ แต่ความรู้สึกนี้อยู่เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น แล้วสิ่งที่ตามมาในวันรุ่งขึ้น สัปดาห์หน้าหรือปีหน้าล่ะ? โดยธรรมชาติ มนุษย์มักอยากพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองถูก ซึ่งไม่ค่อยได้ผลนักหรอก ถ้าคุณไม่ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดี เวลามีเรื่องขัดแย้งอาจทำให้ทะเลาะกันใหญ่โตจนทำลายความสัมพันธ์ไปเลย ในทางกลับกัน ถ้าคุณทำความเข้าใจความรู้สึกตัวเอง ก็จะรู้ว่าเรื่องไหนควรทะเลาะและเวลาไหนที่สามารถเถียงเพื่อยืนยันความคิดของตัวเองได้ แต่โดยทั่วไปแล้วคุณควรสงบปากสงบคำไว้จะดีกว่า
กล่าวปฎิเสธ
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ ซานฟรานซิสโก เผยว่ายิ่งคุณเป็นคนปฏิเสธคนยากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความเครียดสะสมอัดแน่น จนอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า แน่นอนว่าการปฏิเสธเป็นเรื่องท้าทายสำหรับใครหลายคน คำว่า “ไม่” เป็นคำที่มีพลังมากและคุณก็ไม่ควรกลัวที่จะใช้มันด้วย หลีกเลี่ยงการพูดว่า “ฉันไม่คิดว่าจะทำได้นะ” หรือ “ฉันก็ไม่แน่ใจ” การปฏิเสธข้อเสนอที่เข้ามาใหม่เปรียบเหมือนการให้เกียรติภาระหน้าที่ที่มีอยู่เดิมแล้วของตัวเองและทำให้คุณใช้เวลาทุ่มเททำมันให้สำเร็จ นอกจากนั้นยังทำให้คุณไม่ต้องฝืนใจทำเรื่องไร้สาระ เพื่อจะได้มีเวลาและพลังไปทำสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า
เลิกผลัดวันประกันพรุ่ง
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก การพัฒนาตนเองก็เช่นกัน กว่าคุณจะกล้าเลือกในสิ่งที่อยากทำและทำมันให้สำเร็จได้นั้นช่างยากเย็น จึงง่ายกว่าที่ตัดสินใจเลื่อนไปทำอีกวันหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า วันพรุ่งนี้ไม่เคยมาถึง การบอกว่าจะทำในวันพรุ่งนี้เป็นแค่คำแก้ตัว ซึ่งแปลว่า ลึกๆ แล้วคุณไม่ได้อยากทำสิ่งนั้น หรือคุณก็แค่อยากได้ผลลัพธ์แต่ไม่อยากทำงานหนักเพื่อให้ได้มันมา
Source : Entrepreneur