บางคนพอรู้ว่าตัวเองต้องออกไปพูดในที่สาธารณะก็เหงื่อตกแล้ว จากผลการสำรวจพบว่า “ความกลัวการพูดในที่สาธารณะ(Fear of Public Speaking)” จัดเป็นอีกหนึ่งประเภทของกลุ่มอาการกลัวที่พบเห็นได้ทั่วไป
ถึงแม้ว่าการพูดบนเวทีจะเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้วเราสามารถฝึกฝนทักษะในเรื่องนี้ได้ไม่ยากนัก ไม่ว่าจะเป็นการพูดบนเวที หรือในที่ประชุมต่างๆ ความสามารถในการพูดนำเสนอเป็นสิ่งสำคัญ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า ทักษะการพูดเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพการงานได้มากกว่าการมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานนั้นๆ เสียอีก
นอกจากนี้การพูดในที่สาธารณะยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของคุณด้วย เพราะมันช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างรากฐานให้คุณเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลในองค์กรได้ การพูดในที่สาธารณะยังเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ดีในการเปิดตัวธุรกิจใหม่ๆ ขยายเครือข่าย และสร้างโอกาสไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับคุณได้
ไปดูกันเลยดีกว่าครับว่า 10 เคล็ดลับในการเอาชนะความกลัว “การพูดในที่สาธารณะ” มีอะไรบ้าง?!
1.เตรียมตัวให้พร้อม
ข้อนี้ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้ว อย่าปล่อยให้ตัวเองขึ้นเวทีไปพร้อมกับความไม่พร้อม ใช้เวลาเตรียมตัวสักนิดเพื่อศึกษากลุ่มผู้ฟัง และรวบรวมบทพูดให้เข้าที่เข้าทางก่อนวันสำคัญจะมา เพราะแม้แต่ สตีฟ จ็อบส์ ยังใช้เวลาหลายวันเพื่อซ้อมพูด และปรับปรุงแก้ไขบทพูดของเขา ก่อนจะขึ้นเวทีไปนำเสนอเปิดตัวสินค้าตัวใหม่ของ Apple ฉะนั้นแล้วอย่าลืมบันทึกเนื้อหาที่ต้องพูดแล้วฝึกซ้อมก่อนพูดจริงๆ จงเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด!
2.เข้าใจความกลัวของตัวเอง
Matt Haughty ผู้ก่อตั้ง MetaFilter แนะนำเคล็ดลับเด็ดๆเรื่องการพูดในที่สาธารณะไว้ว่า “จงทำความเข้าใจกับความกลัว ตระหนักรู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติของร่างกายที่เราจะตื่นเต้นเวลามีสายตาหลายร้อยคู่จับจ้องตัวเราอยู่ หากคุณควบคุมความตื่นเต้นบนเวทีไม่ได้ ปัญหาการพูดจะเกิดขึ้นแน่ แต่ถ้าคุณทำใจดีสู้เสือ บอกตัวเองว่าสายตาที่กำลังจ้องเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลัว แต่เป็นแค่กลุ่มคนที่กำลังจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ จากคุณเท่านั้น คุณจะผ่านสิ่งต่างๆไปได้ด้วยดี”
3.ผ่อนคลาย
ก่อนจะถึงวันงาน คุณควรผ่อนคลายสักนิด ด้วยการไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูง ฟังเพลง ดูอะไรตลกๆ หรือไม่ก็ทำสิ่งที่ช่วยให้คุณผ่อนคลาย มีการศึกษาพบว่าดนตรีมีผลต่อจิตใจอย่างมาก เพลงที่มีจังหวะกระตุ้นตื่นตัวสามารถทำให้คุณรู้สึกคึกคักและมีแรงผลักดันได้ดี
4.เป็นคนธรรมดาๆบ้างก็ได้
อย่าจริงจังกับการพูดมากเกินไป จนรู้สึกว่าต้องกดดันตนเองให้อยู่เหนือคนฟัง เพราะคุณจะเชื่อมโยงกับคนฟังได้ดีกว่าถ้าหากคุณเผยด้านธรรมดาๆของคุณออกมา เช่น เล่าเรื่องส่วนตัวเล็กๆน้อยๆ จริงใจกับการพูดและปล่อยให้คนฟังเข้าถึงอารมณ์ต่างๆ ของคุณบ้าง
5.เล่าเรื่องตลก
ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเล่าเรื่องตลกเป็นคอมเมดี้โชว์หรอกนะ ลองแทรกเรื่องตลกเล็กๆน้อยๆ ในบทพูด จะช่วยดึงดูดคนฟังและทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลงได้ ผู้ฟังจะได้ไม่รู้สึกเบื่อจนเกินไป แต่ก็ไม่ควรล้อเลียนคนฟังจนทำให้คุณดูไม่น่าเคารพ
6.รักษาบรรยากาศการพูดให้สบายๆ
คุณไม่ควรเทศนาคนฟังด้วยคำสอนมหาศาล เพราะนั่นจะทำให้คนฟังเบื่อและไม่อยากฟัง ลองพูดให้กระชับและน่าฟังด้วยการแตกบทเรียนออกเป็นประเด็นย่อยๆ 2-3 เรื่อง แล้วให้ข้อคิดผ่านตัวอย่างต่างๆที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งจะทำให้ทั้งคุณและคนฟังสนุกขึ้น
7.เว้นวรรคการพูด
หายใจเข้าลึกๆ จะช่วยให้คุณรู้สึกสงบ หลังจากคุณพูดเสร็จไปประเด็นนึง ลองหยุดเว้นวรรคสักนิดแล้วหายใจลึกๆ การหยุดสองสามวินาทีจะทำให้คุณดูมีความมั่นใจและดูไม่รีบพูดจนเกินไป
8.อย่าพยายามขายของ
ลำพังแค่พูดบนเวทีก็กดดันคุณมากอยู่แล้ว ฉะนั้นคุณไม่ควรพยายามเสนอขายสินค้าอะไรมาก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพและดูไม่ค่อยเข้าทีนัก การพูดในที่สาธารณะใช้เวลาแค่สั้นๆ อย่าพยายามแทรกด้วยการโฆษณาสินค้าเลย เพราะอาจทำให้คุณต้องเสียใจภายหลังได้
9.อย่าทำให้ผู้ฟังกลัว
อย่าพูดขู่ให้ผู้ฟังกลัว เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เวลาที่คุณพูดในที่สาธารณะก็เหมือนกับการสนทนาในกลุ่มใหญ่ๆ ต่างกันแค่ขนาดกลุ่มอาจเพิ่มขึ้นและมีคุณพูดอยู่คนเดียว อย่างไรเสีย คนส่วนใหญ่ย่อมฟังและคล้อยตามคุณได้อยู่แล้ว นอกเสียจากว่าคุณทำให้เขากลัวและเดินออกจากห้องประชุมไป
10.เต็มใจรับความผิดพลาด
ไม่ต้องอายหากคุณผิดพลาด ครั้งแรกก็คือครั้งแรก อย่ากังวลว่าการพูดของคุณดูไม่เป็นมืออาชีพ เพราะในครั้งต่อๆ ไปคุณย่อมเก่งขึ้นอย่างแน่นอน จำไว้ว่า ตัวเราคือนักวิจารณ์ที่ร้ายกาจที่สุด คุณแทบจะจำข้อผิดพลาดของนักพูดคนอื่นๆ ไม่ได้ แต่พวกเขากลับจำของตนเองได้ขึ้นใจ ฉะนั้นแล้วหากกลัวความผิดพลาด คุณก็จะไม่ได้ฝึกฝนตนเองจากสิ่งเหล่านั้น
จำไว้ว่า นักพูดที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้สมบูรณ์แบบไปเสียหมด แต่พวกเขาคือผู้ที่หลงใหลในการสื่อสารและสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความหลงใหลนั้นให้ผู้ฟังคล้อยตามได้ อย่าคาดหวังจะเป็นนักพูดที่เก่งกาจชั่วข้ามคืน ให้จดจ่อที่แรงผลักดันและความกระตือรือร้นของตนเอง นึกถึงจุดประสงค์ของการพูดแล้วเชื่อมต่อสิ่งเหล่านั้นลงไปในการพูดของคุณ เท่านี้คุณก็สามารถสื่อสารได้อย่างมีพลังแล้ว
Source : Entrepreneur