คุณเป็น “คนทุ่มเทกับงาน” หรือว่าเป็น “คนบ้างาน” กันแน่? วิทยาศาสตร์มีคำตอบ!

3821

รู้หรือไม่? วันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันคนบ้างานสากล’ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักถึงว่าการบ้างานนั้นเป็น “สิ่งเสพติด” อย่างหนึ่งของผู้คนในยุคศตวรรษนี้ แต่กระนั้น น้อยคนนักที่จะรู้ถึงที่มาของวัฒนธรรมการบ้างานที่ทำให้ ‘ความยุ่ง’ แทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงสถานะของผู้คนในสังคมนี้ไปแล้ว

ประโยคที่ว่า “ฉันกิน นอน และใช้ชีวิตเพื่อธุรกิจของฉัน” คือเรื่องปกติในโลกยุคสมัยใหม่ที่นักธุรกิจล้วนมีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนเป็นอยู่ และการที่เปลี่ยนจาก ‘ทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่’ เป็น ‘มีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน’ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ประกอบการเพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่ลูกจ้างเองก็มีการเอางานกลับไปทำต่อที่บ้านได้เหมือนกัน

หลายๆ คนชอบชีวิตที่สมดุลพอเหมาะระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัว เพราะพวกเขารักในงานที่ทำและเต็มใจสละเวลาเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพและเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่สำหรับบางคนแล้ว พวกเขาอยากทำงานก็เพราะเสพติดการทำงานไปเสียแล้ว ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ยิ่งส่งผลเสียต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและอาชีพของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว

“การทำงานหนัก” กับ “การบ้างาน” ต่างกันอย่างไร ?

สิ่งที่ต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง การทำงานหนัก และ การบ้างาน ไม่ใช่ระยะเวลาในการทำงาน หากแต่เป็นผลกระทบของงานต่อชีวิตส่วนตัวต่างหาก อย่างที่งานวิจัยจากวารสาร Journal of Psychosocial Nursing and Mental Health Services ปี 2015 ที่ชี้ว่า คนบ้างานมักมีปัญหาในการเข้าสังคม รวมไปถึงปัญหาทางสุขภาพจิตและร่างกาย เพราะเสพติดการทำงานหนักจนเกินไป ทั้งยังพบอีกว่า พวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยด้วยโรค Burnout syndrome ที่มีความเครียด สุขภาพย่ำแย่ ไม่มีความสุขในชีวิต แถมมีปัญหาด้านความสัมพันธ์และครอบครัวอีกด้วย

แม้ว่าบางคนอาจสามารถทำงานได้ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้นได้สบายๆ แต่ก็อาจส่งผลร้ายแรงสำหรับใครหลายๆ คนได้เช่นกัน เพราะการฝืนทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานานนั้น นำไปสู่อาการซึมเศร้าเรื้อรังไปตลอดชีวิตได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก

ยิ่งเสพติดการทำงานหนักมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น ทั้งเครียดจนทำงานได้ไม่ดี ทั้งยังต้องใช้เวลากับการทำงานนานขึ้น คนที่บ้าทำงานหนักมักจะรู้สึกท้อแท้ กังวล และเครียดอยู่โดยตลอด นอกจากจะไม่มีความสุขกับการทำงานแล้ว พวกเขายังต้องรู้สึกทรมานใจเพราะรู้สึกผิดเวลาที่ไม่ได้ทำงานอีกด้วย

วิธีการบำบัดอาการบ้างาน

ลองถามตัวเองว่า การทำงานหนักของคุณ…ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ต่างๆ หรือไม่? ทำให้ร่างกายคุณทรุดโทรมหรือเปล่า? หรือว่าทำให้สุขภาพจิตคุณย่ำแย่ลงไปมาก? ซึ่งสัญญาณเหล่านี้แหละที่สามารถบ่งบอกได้ว่าคุณคือคนที่บ้างานอย่างหนักหรือไม่

โดยวิธีการรักษาโรคบ้างานนั้นมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การพูดคุย 12 ระดับ ไปจนถึงการรักษาที่สถานรักษา การบำบัดแบบผู้ป่วยนอกก็มีประสิทธิภาพมากเช่นกัน เพราะการบำบัดมักจะช่วยให้คนที่บ้าทำงานอยากหาวิธีการหลุดพ้นจากการทำงานให้ได้ เพื่อกลับมามีส่วนร่วมกับคนที่รักและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจต่อไปได้

ดังนั้น อย่าลืมประเมินตนเองเป็นประจำว่าคุณแค่กำลัง ‘ทำงานหนัก’ หรือกำลังเข้าสู่โหมด ‘บ้างาน’ แล้ว เพื่อที่จะได้ค่อยๆ ปรับสมดุลของงานไม่ให้มาบ่อนทำลายสมดุลชีวิตของคุณจนเกินพอดียังไงล่ะ

 

Source : Inc asean