Yad Bhatti นักการตลาดดิจิตอลชาวอเมริกันเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของเขาว่า ช่วงแรกๆ ที่ทำงาน เจ้านายของเขาเดินตรงเข้ามาหาหลังจากที่เพิ่งนำเสนองานไป และพูดว่า “คุณทำให้คนฟังง่วงนอน” เขาตกใจกับคำพูดนั้นเพราะมั่นใจมาตลอดว่าตนนำเสนอได้ดี พูดจาคล่อง ชัดถ้อยชัดคำ และไม่เคยอ่านสไลด์ เลย คอมเมนต์จากเจ้านายคาใจเขาเรื่อยมาจนกระทั่งได้ทบทวนตัวเองใหม่ เจ้านายแนะนำให้ Bhatti อัดเสียงตัวเองตอนที่กำลังนำเสนออยู่ จึงทำให้เขาพบว่า เขาพูดได้น่าเบื่อจริงๆ น้ำเสียงราบเรียบ และดูขาดความมั่นใจกว่าที่คิดทีเดียว
ไม่มีใครชอบให้ใครบอกว่าตนเองยังไม่ดีหรือไม่พร้อมมากพอ เพราะอย่างนั้นการได้รับคำวิจารณ์จึงทำให้เราเจ็บใจหรือรู้สึกแย่ได้เป็นเรื่องปกติ แต่มันก็อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังต้องการมันอยู่ก็ได้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรหลีกเลี่ยงคำติชมหรือคำวิจารณ์ไปเสียทั้งหมด
“รบกวนขอคำชี้แนะเพิ่มเติมด้วยครับ/ค่ะ”
สก็อต ฮาลฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Be a Shortcut: The Secret Fast Track to Business Success ได้กล่าวไว้ว่า “คำติชมหรือคำวิจารณ์นั้นคือตัวชี้วัดว่าเราควรปรับปรุง แต่มันมักทำร้ายความรู้สึกเราไปด้วย” โดยธรรมชาติแล้วสมองจะเล่นตลกกับเราโดยการมองว่าการวิจารณ์คือการคุกคาม ทั้งที่มันเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ ซึ่งคุณก็น่าจะรู้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่อาจทำใจยอมรับได้ คุณอยากพัฒนาตนเอง แต่ก็อยากให้คนอื่นยอมรับว่าตนก็มีความสามารถเพียงพอแล้ว
หากไม่มีคำชี้แนะ เราก็จะทำผิดพลาดซ้ำอยู่อย่างนั้น หัวหน้าจึงควรติชมพนักงานในเรื่องเล็กๆ ให้ถี่ขึ้นเพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกเหมือนถูกคุกคาม แต่บ่อยครั้งที่คนเรามักกังวลเกินไปว่าการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาอาจสร้างความตึงเครียดในที่ทำงานได้
การวิจารณ์ คือ เครื่องมืออันทรงพลังที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป โจเซฟ โฟล์คแมน นักสถิติด้านพฤติกรรม ได้ศึกษาผู้นำจำนวน 22,719 คน และพบว่า 10% ของผู้จัดการที่ติชมพนักงานน้อยที่สุด ล้วนมีความสนใจต่อองค์กรค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25% เท่านั้น พวกเขารู้สึกไม่อยากใส่ใจในงานและคิดถึงการลาออกอยู่บ่อยครั้ง ในทางกลับกัน 10% ของผู้จัดการที่ให้คำวิจารณ์สูงสุดนั้นมีคะแนนความผูกพันต่อองค์กรถึง 77% เลยทีเดียว
คำติชมไม่ควรเกิดขึ้นทางเดียว พนักงานก็ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า และติชมพวกเขาเช่นเดียวกัน
การให้ดีกว่าการรับ
คุณควรตระหนักว่า คำติชมไม่ควรเกิดขึ้นทางเดียว พนักงานก็ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า และติชมพวกเขาด้วยเช่นเดียวกัน อาจฟังดูอึดอัด แต่ย่อมทำได้ถ้ารู้จักใช้วิธีที่เหมาะสม เริ่มต้นด้วยการอธิบายให้หัวหน้าฟังถึงสิ่งที่ต้องการอย่างสุภาพเพื่อให้คุณก้าวหน้าในหน้าที่การงานของคุณ หากหัวหน้าของคุณเก่งพอ เขาจะต้องรู้ว่าการเป็นหัวหน้าก็ทีดีนั้นคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด อีลอน มัสก์ ได้กล่าวไว้ว่า “ผมคิดว่าคำวิจารณ์จากทั้งสองฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันกระตุ้นให้คุณทบทวนตัวเองและวิธีปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ” กระบวนการวิจารณ์ที่ถูกต้องจึงต้องวนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด
กลับมาที่ Yad Bhatti ตอนนี้ เขาได้เรียนรู้แล้วว่า ทุกครั้งทีนำเสนองาน เขาต้องพูดให้ดังและกระฉับกระเฉงขึ้น การเปลี่ยนน้ำเสียงขณะพูดส่งผลต่อการนำเสนองานเป็นอย่างมาก เขากล่าวว่า เขาคงไม่อาจมาถึงจุดนี้ได้ หากไม่ได้รับคำแนะนำจากหัวหน้าในครั้งนั้น
“ผมคิดว่าคำวิจารณ์จากทั้งสองฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันกระตุ้นให้คุณทบทวนตัวเองและวิธีปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ” – อีลอน มัสก์ (Elon Musk)
Source : Fast Company