งานวิจัยล่าสุดค้นพบว่าการปรับเวลาเข้าเรียนให้ช้าลงจาก 8.30 น. เป็น 10.00 น. แทน ส่งผลดีเป็นอย่างมากในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ทั้งด้านการเรียน สุขภาพจิต และสุขภาพกาย
จากการทำกรณีศึกษาทดลองในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ พบว่าภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี อัตราการเจ็บป่วยของเด็กนักเรียนลดลงกว่าครึ่ง รวมไปถึงผลการเรียนที่สูงขึ้นอย่างน่าทึ่ง และนั่นก็เป็นเพราะว่าเด็กๆ มีเวลานอนหลับมากขึ้นนั่นเอง
“เวลาเรียนส่งผลต่อเรื่องสุขภาพมากที่สุด” ดร. พอล เคลลี่ (Dr. Paul Kelly) นักเขียนจาก Open University กล่าว “เริ่มด้วยการเจ็บป่วยทางกาย ถัดมาเป็นสุขภาพจิตใจ และสุดท้ายก็ส่งผลไปยังการเรียน” ดร. เคลลี่ยังเสริมอีกว่าตั้งแต่โรคอ้วนไปจนถึงโรคซึมเศร้าล้วนแต่สัมพันธ์กับเวลาเรียนที่เช้าจนเบียดเบียนเวลาพักผ่อนทั้งสิ้น
ดร. กาย มีโดวส์ (Dr. Guy Meadows) ผู้ร่วมก่อตั้ง The Sleep School ชี้ว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยในทำนองเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยที่เด็กนักเรียนในอังกฤษก็ติดอันดับ 6 ของเด็กที่นอนหลับไม่เพียงพอที่สุดในโลก ส่วนอันดับที่ 1 นั้นตกเป็นของสหรัฐอเมริกา
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา องค์กรไม่แสวงผลกำไร American Academy of Sleep Medicine ยืนยันชัดเจนว่า “การปรับเวลาเข้าเรียนส่งผลดีต่อ ความสำเร็จของผู้เรียน สุขภาพ และความปลอดภัย” โดยได้ร่วมมือกับองค์กรสำคัญๆ อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น American Medical Association เรียกร้องให้ทุกโรงเรียนกำหนดเวลาเข้าเรียนไว้ที่อย่างน้อย 8.30 น. เพราะหลายๆ โรงเรียนนั้นเริ่มเรียนกันตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าเลยทีเดียว
และล่าสุด งานวิจัยของ ดร. เคลลี่ ที่มีเด็กมหาวิทยาลัยเป็นกรณีศึกษา สนับสนุนว่า สำหรับวัยรุ่นอายุ 18-19 ปี ซึ่งเป็นวัยกำลังเจริญพันธุ์ เวลาเรียนหรือเวลาเริ่มทำงาน (สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนต่อ) ควรจะเป็นช่วง 11 โมงหรือเที่ยงด้วยซ้ำไป ต่างจากวัยผู้ใหญ่ที่นอน 7 ชม. ก็อาจเพียงพอแล้ว เด็กวัยรุ่นควรได้รับการพักผ่อนประมาณ 9 ชม. จึงจะแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ที่สุด
แต่ในความเป็นจริง เราก็ทราบกันดีว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่นอนน้อยกันจนเป็นเรื่องชินตา เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะร่างกายของวัยนี้จะหลั่งสารเมลาโทนินซึ่งเป็นสารที่ควบคุมนาฬิกาชีวภาพของร่างกายช้ากว่าผู้ใหญ่ประมาณ 2-3 ชม. พวกเขาจึงมีแนวโน้มจะหลับดึกกว่าโดยธรรมชาติ
ไม่ใช่แค่ความต่างของวัย แต่ยังมีเรื่องความต่างทางร่างกายของแต่ละคนอีก บางคนอาจจะเป็นคนชอบตื่นเช้า แต่บางคนก็ชอบใช้เวลายามดึก ซึ่งดร. มีโดวส์เห็นว่า ทุกคนควรตระหนักว่านาฬิการ่างกายของแต่ละคนนั้นต่างกัน ที่ทำงานควรปรับเวลาเข้างานให้ยืดหยุ่นขึ้น ดร. เคลลี่ก็เห็นพ้องว่า ทางโรงเรียนก็ควรปรับตารางเวลาเรียนเช่นกัน
“ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองควรตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องการนอนเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญกว่าคือ สังคมควรหันมาใส่ใจปรับเวลาต่างๆ ให้เหมาะสมกับวงจรการทำงานของร่างกายมนุษย์ด้วย”
Source : frontiersin.org