ไม่จำเป็นต้องมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ เราก็รู้กันดีว่าบทสนทนาซ้ำซากเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศไม่ก็ทีมกีฬาท้องถิ่นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อซะไม่มี แล้วการพูดคุยสัพเพเหระ (small talk) แบบนี้มีผลกระทบสำคัญต่อความสุขของคุณบ้างรึเปล่านะ?
ล่าสุด มีงานวิจัยที่มาไขข้อสงสัยนี้แล้ว ผลชี้ชัดว่า การพูดเรื่องสัพเพเหระมากเกินไปทำให้ความสุขในชีวิตลดลงจริงๆ ซึ่งในทางกลับกัน การสนทนากันอย่างมีเนื้อหาสาระมากขึ้น ก็จะทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น
การพูดเรื่องสัพเพเหระเป็นตัวทำลายความสุข
นักจิตวิทยา Matthias Mehl ได้คิดวิธีพิสูจน์ว่าบทสนทนามีผลต่ออารมณ์คนเราอย่างไร ด้วยการรับอาสาสมัครเพื่อติดตั้งเครื่องอัดเสียงไว้ที่ตัว โดยมันจะบันทึกบทสนทนาของพวกเขาทุกๆ 12.5 นาทีเป็นระยะเวลาสี่วัน จากนั้นก็ถอดเทปมาบันทึกว่าช่วงไหนที่เป็นการพูดกันเรื่อยเปื่อย ช่วงไหนเป็นการถกเกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ เช่น เหตุการณ์ปัจจุบัน และช่วงไหนที่เป็นการพูดคุยเรื่องจำเป็น เช่นว่า ใครจะเป็นคนเอาขยะไปทิ้ง เป็นต้น
ระหว่างนั้น พวกเขาก็ติดตามบันทึกระดับมวลความสุขของผู้เข้าร่วมอย่างละเอียด และผลที่ออกมาก็คือ
“Mehl และทีมงานวิจัยพบว่าอาสาสมัครที่มีความสุขมากที่สุดนั้นสนทนาเรื่องที่มีเนื้อหาสาระมากถึงสองเท่า และสนทนาสัพเพเหระเพียงแค่หนึ่งส่วนสามของอาสาสมัครที่มีความสุขน้อยที่สุด” Jenn Granneman กล่าวไว้ในเว็บไซต์ Psychology Today
คำถามคือ แล้วทำไมการเปลี่ยนจากการพูดหยอกเล่นเรื่อยเปื่อยไปสู่หัวข้อสนทนาที่จริงจังมากขึ้นถึงมีผลต่ออารมณ์ของผู้สนทนามากขนาดนั้นกันล่ะ? โดย Mehl ได้ให้สัมภาษณ์ลงใน the New York Times ว่า “เมื่อได้สนทนาร่วมกับผู้อื่นในประเด็นที่จริงจัง ขณะเดียวกันมันก็ทำให้คุณและคู่สนทนาผูกพันกันยิ่งขึ้นด้วย อย่างที่เรารู้กันดีว่าการได้เชื่อมโยงและรวมกลุ่มกับคนอื่นๆ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของความสุขของมนุษย์”
แต่เรื่องสัพเพเหระ(small talk)…ก็ยังจำเป็นอยู่นะ
Granneman กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้เราก็ควรจะพักหายใจจากการพูดคุยเรื่องจริงจังๆ บ้างเหมือนกันนะ แถมเธอยังยกตัวอย่างทางเลือกใหม่ๆ ในการเริ่มบทสนทนาให้ด้วย เช่น “ช่วงนี้ไปเจออะไรกันมาบ้าง?” แทนการถามว่า “เป็นยังไงบ้าง?” หรือ “มีอะไรที่ชอบที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาบ้าง?” แทน “สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไงบ้าง” ซึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญอีกมากมายที่ได้เสนอแนะประโยคคำถามเพื่อให้ประโยค small talk ของคุณน่าสนใจยิ่งขึ้น
การหลีกเลี่ยงบทสนทนาสัพเพเหระไปอย่างสิ้นเชิงก็ใช่ว่าจะดีนะ แถมยังทำได้ยากด้วย การคุยแบบ small talk ไม่ได้เพียงช่วยให้การเข้าสังคมลื่นไหลหรือเพิ่มพูนความไว้วางใจระหว่างคู่สนทนาเท่านั้น แต่วิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ถ้าอีกตัวเลือกหนึ่งที่คุณมีคือการเมินเฉยต่อเพื่อนรอบข้าง (เช่นในรถไฟฟ้าที่ผู้คนแน่นขนัดจนไม่สามารถพูดคุยกันจริงจังได้) การคุยเล่นๆ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการรู้สึกอึดอัดกับความเงียบ
สรุปก็คือ การเชื่อมต่อกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้นและลึกซึ้งขึ้นย่อมนำมาซึ่งความสุขที่มากขึ้นเสมอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูตามความเหมาะสมของบริบทในขณะนั้นด้วยล่ะ
ถ้าคุณกำลังคุยกับคนที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เช่น เพื่อนร่วมงาน การคุยในเรื่องที่ลึกขึ้นก็จะมีแนวโน้มทำให้คุณมีความสุขขึ้น แต่ถ้าคุณกำลังยืนต่อแถวกับคนแปลกหน้า การมีปฏิสัมพันธ์ในระดับเดียวกับคนรู้จักย่อมจะทำให้รู้สึกแปลกๆ ได้ ซึ่งการพูดเรื่องสัพเพเหระจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการไม่พูดอะไรเลย
Source: Inc-asean